รายงานการพัฒนาระบบราชการ ประจำปี 2562 และ 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 10 December 2021 23:22
- Hits: 4446
รายงานการพัฒนาระบบราชการ ประจำปี 2562 และ 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานการพัฒนาระบบราชการ ประจำปี 2562 และ 2563 ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป และให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 71/10 (10) บัญญัติให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ ก.พ.ร. จึงได้ดำเนินการจัดทำรายงานการพัฒนาระบบราชการ ประจำปี 2562 และ 2563 เพื่อประมวลผลการปฏิบัติงานของ ก.พ.ร.โดยรวบรวมผลงานเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการที่สำคัญและการดำเนินการของสำนักงาน ก.พ.ร. ในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และ 2563
2. ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบรายงานการพัฒนาระบบราชการ ประจำปี 2562 และ 2563 และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. รายงานการพัฒนาระบบราชการ ประจำปี 2562 สรุปได้ดังนี้
1.1 ส่วนที่ 1 ข้อมูลภาพรวมของสำนักงาน ก.พ.ร.
1.2 ส่วนที่ 2 ผลการดำเนินงานที่สำคัญ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
1.2.1 ด้านพัฒนาการให้บริการประชาชน
(1) ไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ราชการออกให้จากประชาชนโดยมีหน่วยงานที่ดำเนินการยกเลิกการเรียกสำเนาเอกสารบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านครบถ้วน ทุกกระบวนงาน จำนวน 60 หน่วยงาน เช่น กรมการขนส่งทางบก กรมบังคับคดี เป็นต้น
(2) พัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) ครอบคลุมการให้บริการออกหนังสือรับรอง ใบอนุญาตและเอกสารแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการ สามารถทำธุรกรรมผ่าน bizportal.go.th โดยยื่นที่เดียว แบบฟอร์มเดียว เอกสารชุดเดียว และติดตามได้ทุกใบอนุญาต
(3) เพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) โดยธนาคารโลกแถลงผลการจัดอันดับความยาก – ง่าย ในการประกอบธุรกิจ Doing Business 2020 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลกสูงขึ้น 6 อันดับ
1.2.2 ด้านปรับบทบาทภารกิจโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐ
(1) กำหนดแนวทางการมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรม (rearrange) ให้ส่วนราชการพิจารณาจัดโครงสร้างส่วนราชการระดับต่ำกว่ากรมได้เองโดยไม่เพิ่มจำนวนกองในภาพรวมของส่วนราชการ
(2) ยับยั้งการเพิ่มหน่วยงานใหม่ตามแผนการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่มีเป้าหมายให้ภาครัฐมีขนาดที่เล็กลงสำนักงาน ก.พ.ร. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ให้มีมติเห็นชอบให้ส่วนราชการต้องพิจารณาปรับปรุงบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างของหน่วยงาน แต่ปรากฏว่ามีการเสนอร่างกฎหมายที่มีการจัดตั้งหน่วยงาน คณะกรรมการ และกองทุน เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐในอนาคต อีกทั้งยังทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 ให้มีมติถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 และในกรณีที่ขอจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มใหม่ต้องเสนอยุบเลิกหรือยุบรวมหน่วยงานที่มีอยู่เดิม (One-in, X-Out) เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในภารกิจและงบประมาณ
(3) จัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเตรียมความพร้อมประเทศสู่ศตวรรษที่ 21 ตามแนวนโยบาย Thailand 4.0
1.2.3 ด้านเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
(1) ผลักดันการพัฒนาระบบราชการ 4.0 โดยการขับเคลื่อนภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) เช่น การบูรณาการในการเชื่อมโยงข้อมูลและการดำเนินงานโดยใช้เทคโนโลยีร่วมกัน การนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลมาสนับสนุนการจัดเก็บข้อมูลและจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นต้น
(2) ประเมินส่วนราชการ จังหวัด และองค์การมหาชนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ โดยมีเป้าหมายให้ส่วนราชการ จังหวัดและองค์การมหาชนดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพในภารกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศและประชาชน
1.2.4 ด้านนโยบายการพัฒนาระบบราชการ
(1) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนบริการภาครัฐที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยให้ประชาชนร่วมออกแบบและนำเสนอแนวทางการพัฒนางานภาครัฐ ผ่านกิจกรรม MY BETTER COUNTRY HACKATHON ซึ่งจากกิจกรรมดังกล่าวทำให้ได้ 24 ข้อเสนอที่สามารถนำไปพัฒนางานบริการภาครัฐ เช่น การพัฒนา Chat bot ให้ข้อมูลข่าวสารติดต่อราชการกับสถานีตำรวจ การพัฒนาระบบเพื่อลดเวลาในการรอคอยยาในโรงพยาบาล เป็นต้น
(2) พัฒนาต้นแบบนวัตกรรมงานบริการภาครัฐ (GovLab) ซึ่งครอบคลุมงานบริการสาธารณะที่หลากหลาย และเป็นงานบริการพื้นฐานที่มีผลกระทบกับประชาชนสูงใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว ด้านการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ด้านการตรวจคนเข้าเมือง ด้านการศึกษา และด้าน SMEs เพื่อการส่งออก
(3) เสริมสร้างความซื่อตรงในการบริหารงานภาครัฐของประเทศไทย สร้างความเข้มแข็งและยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินการด้านความซื่อตรงในการบริหารงานภาครัฐ
2. รายงานการพัฒนาระบบราชการ ประจำปี 2563 สรุปได้ดังนี้
2.1 ส่วนที่ 1 ข้อมูลภาพรวมของสำนักงาน ก.พ.ร.
2.2 ส่วนที่ 2 ผลการดำเนินงานที่สำคัญ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
2.2.1 ด้านพัฒนาการให้บริการประชาชน
(1) พัฒนาระบบศูนย์กลางการบริการประชาชนในการติดต่อราชการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (Citizen Portal) ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) เพื่อให้บริการบน Mobile Application โดยประชาชนสามารถติดต่อรับบริการจากภาครัฐได้ทุกที่ ทุกเวลาด้วยความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย
(2) พัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) โดยได้ศึกษาและพัฒนาระบบต้นแบบเพื่อยกระดับการให้บริการของระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) ให้เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางครบวงจรเต็มรูปแบบ (Fully Digital Services)
(3) ขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ส่งเสริมให้ส่วนราชการมีการพัฒนาระบบการให้บริการแบบ e-Service ได้แบบเบ็ดเสร็จ นอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงช่องทางการบริการภาครัฐที่เป็น e-Service รวม 325 งานบริการ เผยแพร่บนเว็บไซต์สำนักงาน ก.พ.ร. ประกอบด้วย (1) งานบริการเพื่อประชาชน 87 งานบริการ (2) งานบริการสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ/SMEs 192 งานบริการ และ (3) งานบริการด้านแรงงานหรือส่งเสริมการมีงานทำ 46 งานบริการ
(4) กำหนดแนวทางการทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการ e-Service ของหน่วยงานนำร่องในการพัฒนาการออกเอกสารหลักฐานด้วยระบบดิจิทัล 84 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563) โดยผลการดำเนินการพบว่าหน่วยงานได้ทบทวนหรือแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบแล้วเสร็จ 44 ฉบับ อยู่ระหว่างการดำเนินการ 40 ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564)
2.2.2 ด้านปรับบทบาทภารกิจโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐ
(1) ปรับบทบาทภารกิจของส่วนราชการเพื่อให้ส่วนราชการสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เช่น การปรับปรุงบทบาทภารกิจของกรมทรัพยากรทางชายทะเลและชายฝั่ง เพื่อบูรณาการภารกิจในการบริหารงานเชิงยุทธศาสตร์และเชิงพื้นที่ การอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งและการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งการปฏิบัติภารกิจตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความมั่งคงทางทะเล การปรับปรุงบทบาทภารกิจของสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อรองรับภารกิจในการพัฒนานโยบายและนวัตกรรมทางสังคม คิดค้นนวัตกรรม เป็นต้น
(2) การปรับปรุงบทบาทภารกิจ และโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามหลักการมอบอำนาจการแบ่งส่วนราชการภายในกรมเพื่อรองรับภารกิจในการพัฒนาผู้ประกอบการไทย ได้แก่ การพัฒนาความร่วมมือและเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการและเครือข่ายองค์ความรู้ในเทคโนโลยีเป้าหมายและนวัตกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อขยายตลาดไปยังนานาประเทศ
(3) สร้างความเข้มแข็งในการบริหารเชิงพื้นที่และพัฒนาระบบบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ โดยนำข้อเสนอรูปแบบการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการในจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูงไปทดลองนำร่องใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสาคร ชัยนาท ขอนแก่น ราชบุรี นครพนม และสระบุรี ซึ่งมุ่งเน้นประเด็นการยกระดับศูนย์ดำรงธรรมอำเภอให้เป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ โดยนำงานบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ไปทดลองให้บริการ
2.2.3 ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
(1) ปรับแนวทางการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นการติดตามผลการดำเนินงาน (Monitoring) แต่ไม่นำมาประเมินผล และให้ถอดบทเรียนการบริหารจัดการและแก้ปัญหาในสถานการณ์ Covid - 19 เนื่องจากหน่วยงานต้องเผชิญกับวิกฤตดังกล่าวและมุ่งแก้ไขปัญหา จึงอาจไม่สามารถประเมินผลตามกรอบการประเมินที่กำหนดไว้เดิมได้
(2) กำหนดแนวทางการประเมินส่วนราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้สอดคล้องกับการทำงานในรูปแบบ New Normal โดยประเมินประสิทธิผลการดำเนินงาน มุ่งเน้นการขับเคลื่อนภารกิจของภาครัฐให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับเป้าหมายของแผนสำคัญระดับชาติในมิติ Function, Area, Agenda, Joint และประเมินศักยภาพในการดำเนินงานสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 ซึ่งวัดจากการพัฒนาองค์การรวมทั้งวัดผลการประเมินสถานะการเป็นระบบราชการ 4.0
2.2.4 ด้านนโยบายการพัฒนาระบบราชการ
(1) กำหนดมาตรการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนในสภาวะวิกฤต เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่น การให้ทุกหน่วยงานของรัฐทบทวนและปรับปรุงแผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤต (Business Continuity Plan : BCP) ให้เป็นปัจจุบันและรองรับกรณีเกิดโรคระบาดต่อเนื่องและเหตุวิกฤตอื่น ผลการดำเนินการ ณ วันที่ 31 กันยายน 2563 มีหน่วยงานของรัฐจัดทำแผน BCP แล้ว 3,616 แห่ง โดยร้อยละ 96.97 เป็นแผนที่รองรับ Covid - 19
(2) พัฒนาระบบการค้าดิจิทัลแพลตฟอร์มแห่งชาติ (National Digital Trade Platform : NDTP) เพื่อพัฒนาระบบบริการดิจิทัลสำหรับการค้าระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกสำหรับการนำเข้าและส่งออกสินค้าให้แก่ภาคเอกชน เป็นการพัฒนาตามแนวนโยบายการยกระดับด้านดิจิทัลของภาครัฐ เพื่อมุ่งสู่การเป็น Thailand 4.0
(3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนบริการภาครัฐที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยจัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนางานบริการภาครัฐ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากภาคเอกชน นักศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ โดยมีข้อเสนอในการพัฒนางานภาครัฐ 9 ประเด็น ได้แก่ กรแก้ปัญหาน้ำแล้งในชุมชน การลดปริมาณฝุ่นที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ป่าไม้ยั่งยืน การจัดการขยะริมคลอง การจัดการอาหารที่ถูกทิ้ง การบริหารจัดการขยะ การใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ การลดมลพิษทางอากาศ นโยบายรัฐที่ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะได้นำข้อเสนอดังกล่าวขยายผลไปสู่การปฏิบัติต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12258