ผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 39 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 10 December 2021 22:18
- Hits: 4290
ผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 39 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 39 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 13 -16 กันยายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุม [คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 กันยายน 2564) เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 39 และ การประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง จำนวน 6 ฉบับ] ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 39 ที่ประชุมได้รับรองร่างปฏิญญาร่วมบันดาร์เสรี เบกาวันของรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานในด้านความมั่นคงและการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 39 และได้รับทราบแผนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2 พ.ศ. 2561 - 2565 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
สาขาความร่วมมือ |
สาระสำคัญของผลการประชุม |
|
ด้านการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid:APG) |
รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้สาขาความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน ปี 2564 ได้แก่ (1) การซื้อ-ขายไฟฟ้าพหุภาคีภายใต้ APG การกำหนดกลไกเพื่ออำนวยความสะดวก และการศึกษาแผนแม่บทการเชื่อมต่อโครงข่ายอาเชียนระยะที่ ๓ ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว และ (2) โครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)-ประเทศไทย (ไทย)-มาเลเชีย ระยะที่ 2 โดย ณ เดือนสิงหาคม 2564 มีการซื้อขายไฟฟ้ารวม 1.72 กิโลวัตต์ชั่วโมง และปัจจุบันได้ดำเนินโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้า สปป. ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สาธารณรัฐสิงคโปร์ (สิงคโปร์) โดยกำหนดปริมาณการซื้อ-ขายไฟฟ้าสูงสุดที่ 100 เมกะวัตต์และจะเริ่มซื้อ-ขายในปี 2565 - 2566 |
|
ด้านการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน |
รับทราบการดำเนินงานภายใต้โครงการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน โดยมุ่งพัฒนาตลาดก๊าซร่วมสำหรับภูมิภาคและเพิ่มจุดเชื่อมต่อเพื่อรองรับการเข้าถึงก๊าซธรรมชาติ รวมถึงส่งเสริมบทบาทการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นพลังงานสะอาด |
|
ด้านถ่านหินและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด |
รับทราบและเห็นชอบการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศแห่งอาเชียนด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดและการลงนามบันทึกความตกลงร่วมระหว่างศูนย์พลังงานอาเซียนกับสถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีพลังงานและเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) โดยจะศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนในโรงไฟฟ้าถ่านหินและเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคนโลยีถ่านหินสะอาดมาใช้ในอาเซียน |
|
ด้านประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน |
รับทราบ (1) ความคืบหน้าการพัฒนาแนวทางการประหยัดพลังงานในอาคารและระบบทำความเย็น โดยมีการเปิดตัวระบบฐานข้อมูลการลงทะเบียน ผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศของภูมิภาคอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน 2564 (2) ความก้าวหน้าของการลดความเข้มการใช้พลังงานในภูมิภาคในปี 2562 ซึ่งอาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายคิดเป็นร้อยละ 21.8 จากเป้าหมายที่ทั้งภูมิภาคจะต้องลดความเข้มการใช้พลังงานให้ได้ร้อยละ 32 ในปี 2568 |
|
ด้านพลังงานหมุนเวียน |
รับทราบ (1) ความคืบหน้าของความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและประเทศคู่เจรจา เช่น ความร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันในการพัฒนาก๊าซชีวภาพในภาคไฟฟ้าของอาเซียนและการบูรณาการกลยุทธ์การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ากับแนวทางการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพของอาเซียน (2) สถานะการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของอาเซียน โดยในปี 2562มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของอาเซียน ร้อยละ 13.5 ของพลังงานทั้งหมดที่ผลิตได้ ซึ่งอาเซียนตั้งเป้าไว้ที่ ร้อยละ 23 ในปี 2568 และมีสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ร้อยละ 28.7 ของปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งอาเซียนตั้งเป้าหมายไว้ที่ ร้อยละ 35 ในปี 2568 |
|
ด้านนโยบายและแผนพลังงานของภูมิภาค |
รับทราบผลการดำเนินงานของแต่ละสาขาความร่วมมือและเห็นพ้องร่วมกันในการขับเคลื่อนนโยบายและแผนด้านพลังงานเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านและสร้างความยืดหยุ่นด้านพลังงานของภูมิภาค โดยเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลการผลักดันนโยบาย การวางแผนด้านพลังงานของอาเชียน และการเสริมสร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและประเทศคู่เจรจา |
|
ด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน |
รับทราบการดำเนินงานภายใต้เครือข่ายความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์โดยมุ่งเน้นความร่วมมือระดับภูมิภาคและนานาชาติ |
|
ด้านเครือข่ายความร่วมมือการกำกับกิจการพลังงานอาเซียน |
รับทราบการดำเนินงานของเครือข่ายความร่วมมือการกำกับกิจการพลังงานอาเซียนซึ่งจะช่วยสนับสนุนความร่วมมือ APG และท่อก๊าซอาเซียน |
2. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานบวกสาม [จีน สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และญี่ปุ่น] ครั้งที่ 18 มุ่งเน้นความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงาน ตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานสะอาดเพื่อผลักดันอาเซียนไปสู่ความสำเร็จ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2 และได้รับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานบวกสาม ครั้งที่ 18 โดยมีความมุ่งมั่นร่วมกันกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในภาคพลังงานอย่างยั่งยืน
3. การประชุมรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก [จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย) นิวซีแลนด์ เครือรัฐออสเตรเลีย (ออสเตรเลีย) สหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) และสหพันธรัฐรัสเซีย (รัสเขีย)] ครั้งที่ 15 ที่ประชุมได้รับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 15 และรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจาก 17 ประเทศ ได้แสดงวิสัยทัศน์และแนวนโยบายการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและ การลดการปล่อยก๊ซคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละประเทศ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าของกิจกรรมภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก เช่น การดำเนินงานด้านประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน ด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ ด้านพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น การใช้พลังงานไฮโดรเจน และการเปลี่ยนผ่านจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ
4. การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 7 มีการนำเสนอทิศทางพลังงานของโลกและแนวทางในการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050 และมีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนจะมีปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังจากที่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรองเอกสารแถลงการณ์ความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียนกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศโดยให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน การเข้าถึงพลังงานอย่างทั่วถึงในราคาที่เหมาะสม และการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน
5. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานกับทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ครั้งที่ 5 มีการนำเสนอทิศทางการเปลี่ยนผ่านพลังงานโลกซึ่งมุ่งเน้นการสร้างเสถียรภาพของพลังงานโลกและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบพลังงานรวมทั้งมีการรับทราบรายงานความคืบหน้าของกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดทำเอกสารทิศทางของพลังงานหมุนเวียนในอาเซียน ฉบับที่ 2 และการจัดทำกลยุทธ์การผลิตพลังงานชีวมวลที่ยั่งยืนภายในอาเซียน นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทยได้กล่าวขอบคุณทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศที่สนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียนอย่างต่อเนื่องและเชื่อว่าการส่งเสริมพลังงานชีวภาพและพลังงานชีวมวลจะช่วยให้การพัฒนาพลังงานสะอาดในอาเชียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
6. การประชุมรัฐมนตรีอาเชียนด้านพลังงานกับสหรัฐฯ สหรัฐฯ ได้นำเสนอกรอบแนวทางความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน-สหรัฐฯ ผ่านการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานของประเทศสมาชิกกับสหรัฐฯ เป็นประจำทุกปีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน ทั้งนี้ รัฐนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทยแสดงความเห็นว่าการร่วมมือกับสหรัฐฯ จะช่วยส่งเสริมความมั่นคงและยั่งยืนทางพลังงานรวมทั้งจะช่วยกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของภูมิภาค และการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านพลังงานต่างๆ เช่น ไฮโดรเจนและเทคโนโลยีดักจับ กักเก็บและใช้ประโยชน์จากคาร์บอน
7. การประชุมรัฐมนตรีโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป. ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ รัฐมนตรีทั้ง 4 ประเทศ ได้ให้การรับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป. ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยประเทศสมาชิกยืนยันความมุ่งมั่นในการเริ่มต้นการค้าไฟฟ้า ข้ามพรมแดน จำนวน 100 เมกะวัตต์และแสดงความมุ่งมั่นว่าจะร่วมลงนามตามข้อตกลงสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
8. การประชุมภาคธุรกิจพลังงานอาเซียน ประจำปี 2564 โดยมีหน่วยงานด้านพลังงานทั้งภาครัฐและเอกชนจากประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านและการค้าการลงทุนด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการประกาศรางวัลพลังงานอาเซียน โดยในปี 2564 ไทยมีผู้รับรางวัลทั้งสิ้น 36 รางวัล
9. บทบาทของไทยในการประชุม ไทยได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบันว่า อาเซียนต้องร่วมมือกันโดยคำนึงถึงความสำคัญในด้านการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการ มีเสถียรภาพ รวมทั้งมุ่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น โดยพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลด้านพลังงานสะอาดเพื่อนำพาอาเซียนไปสู่ระบบพลังงานคาร์บอนต่ำในอนาคต
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12254