ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers: AEM) ครั้งที่ 53 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 10 December 2021 22:11
- Hits: 4838
ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers: AEM) ครั้งที่ 53 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers: AEM) ครั้งที่ 53 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 8 – 15 กันยายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีเนการาบรูไนดารุสซาลา (บรูไน) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญ สมะลาภา) เข้าร่วมการประชุมตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
- 1. การประชุม AEM ครั้งที่ 53 มีผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
ประเด็นการประชุม |
ผลการประชุม |
|
(1) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ |
รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้กรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุม ของอาเซียน จำนวน 185 กิจกรรม โดยอยู่ภายใต้ AEM จำนวน 60 กิจกรรม ดำเนินการแล้วเสร็จ 14 กิจกรรม (ณ เดือนสิงหาคม 2564) เช่น บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการมาตรการที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้าจำเป็นภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเชียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เห็นชอบ ดังนี้ 1) กรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและมอบหมายสำนักเลขาธิการอาเขียนจัดทำเอกสารแนวคิดว่าด้วยความเป็นกลางทางคาร์บอนและการกำหนดขั้นตอนในการนำกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนฯ ไปปฏิบัติ 2) แผนงานบันดาร์เสรีเบกาวันซึ่งเป็นแผนการปรับเปลี่ยนอาเซียนไปสู่ความเป็นดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งกระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเชียน |
|
(2) ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจที่บรูไนในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2564 |
- มีประเด็นภายใต้แนวคิดหลัก “We care, we prepare, we prosper” รวม 13 ประเด็น ดำเนินการแล้วเสร็จ 4 ประเด็น - เห็นชอบเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1) เอกสารเครื่องมือในการประเมินต้นทุนและประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษีสำหรับอาเซียน 2) แผนการดำเนินการในการปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเชียน ปี 2564 - 2568 และ 3) กรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนฯ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้การรับรองต่อไป - รับทราบกรณีที่ประชุมคณะกรรมาธิการเขตการลงทุนอาเชียน ครั้งที่ 24 รับรองการจัดทำกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนของอาเซียน |
|
(3) การค้าบริการของอาเซียน |
- เร่งรัดให้สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (ฟิลิปปินส์) จัดทำข้อผูกพันการเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการอาเซียน - เร่งรัดให้ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) มาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) ฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) ให้สัตยาบันความตกลงการค้าบริการอาเซียน - รับทราบกรณีที่สาธารณรัฐอินโดนีเชียได้ให้สัตยาบันความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้วและได้เร่งรัดให้ยื่นสัตยาบันสารภายในเดือนตุลาคม 2564 (จากการประสานข้อมูลเพิ่มเติม ได้รับแจ้งว่า มีการปรับการยื่นสัตยาบันสารเป็นภายในปี 2564) |
|
(4) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) |
เร่งรัดประเทศสมาชิกให้สัตยาบันความตกลง RCEP ภายในเดือนตุลาคม 2564 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในต้นเดือนมกราคม 2565 โดยประเทศไทย (ไทย) แจ้งว่าจะสามารถยื่นสัตยาบันสารได้ภายในเดือนตุลาคม 2564 (จากการประสานข้อมูลเพิ่มเติม ได้รับแจ้งว่า ไทยได้ยื่นสัตยาบันสารแล้ว เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564) |
2. การประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน ครั้งที่ 35 มีผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
ประเด็นการประชุม |
ผลการประชุม |
|
(1) การขยายรายการสินค้าจำเป็นในบัญชีแนบท้ายบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการมาตรการที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้าจำเป็นภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยฯ |
- เห็นชอบการขยายรายการสินค้าจำเป็นในกลุ่มสินค้าเกษตรพื้นฐานและอาหาร จำนวน 107 รายการ - รับทราบข้อเสนอของ สปป. ลาว กัมพูชา และฟิลิปปีนส์ ในการขยายบัญชีรายการสินค้าให้ครอบคลุมข้าว ข้าวโพด และน้ำตาล รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุตสาหกรรม และวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 |
|
(2) การจัดตั้งคณะผู้พิจารณาอิสระ |
รับทราบความคืบหน้าของการจัดตั้งคณะผู้พิจารณาอิสระของประเทศสมาชิกอาเซียน |
|
(3) ประเด็นคงค้างภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน |
กัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมา เรียกร้องให้ไทยหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้นำเข้าทั่วไปสามารถนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งไทยแจ้งว่าได้แก้ไขปัญหาประเด็นดังกล่าวแล้วและได้ปรับปรุงกฎระเบียบให้ยืดหยุ่นมากขึ้น |
|
(4) การแก้ไขระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า |
เห็นชอบการแก้ไขภาคผนวกของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและระเบียบวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเชียนให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการค้าปัจจุบัน |
3. การหารือของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค มีผลการประชุมที่สำคัญ เช่น
ประเด็นการประชุม |
ผลการประชุม |
|
(1) อาเซียน-จีน |
รับรองแถลงการณ์ร่วม เรื่อง การเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจในโอกาสครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์อาเชียน-จีน ทั้งนี้สาธารณรัฐประชาชนจีนขอให้อาเชียนสนับสนุนการเข้าร่วมความตกลง RCEP ของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน(ฮ่องกง) ด้วย |
|
(2) อาเซียน-เกาหลีใต้ |
สนับสนุนให้อาเชียนและสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) หาแนวทางร่วมกันในการเดินหน้าเจรจาเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมโดยเฉพาะแนวทาง ASEAN minus X (ASEAN-X) (ยกเว้นเวียดนาม) |
|
(3) อาเซียน-ญี่ปุ่น |
- รับทราบกรณีอินโดนีเซียอยู่ระหว่างดำเนินการขั้นตอนสุดท้ายในการให้สัตยาบันพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเชียน-ญี่ปุ่น - ยินดีกับข้อเสนอแนวคิดว่าด้วยนวัตกรรมและการเติบโตอย่างยั่งยืนระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม 3 ด้าน ได้แก่ ด้านอุตสาหกรรม ด้านการพัฒนาเขตเมือง และด้านการพัฒนาชนบท |
|
(4) อาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) |
เห็นชอบแผนงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเชียนบวกสาม ปี 2564 - 2565 |
|
(5) อาเซียน-ฮ่องกง |
รับทราบ ดังนี้ - ความตกลงการค้าเสรีอาเชียน-ฮ่องกงและความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 - กรณีที่ฮ่องกงให้ความสนใจในการเป็นสมาชิกความตกลง RCEP |
|
(6) อาเซียน-อินเดีย |
รับทราบความคืบหน้าการจัดทำขอบเขตการเจรจาทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย |
|
(7) อาเซียน-สหรัฐอเมริกา |
เห็นชอบแผนการดำเนินงานภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา และการขยายการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ปี 2564 – 2565 |
|
(8) อาเซียน-สหภาพยุโรป |
เห็นชอบแผนงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี 2563 - 2564 |
|
(9) อาเซียน-รัสเซีย |
เห็นชอบแผนดำเนินงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-รัสเซีย ปี 2564 - 2568 และการปรับปรุงแผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-รัสเชีย |
|
(10) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ |
- รับทราบความคืบหน้าการเจรจาเพื่อยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซึ่งมีผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้ จะใช้ความตกลง RCEP เป็นพื้นฐานในการเจรจาจัดทำข้อบทเรื่องโทรคมนาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นต้น - ยินดีที่สาธารณรัฐชิลีต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ |
|
(11) อาเซียน-สหราชอาณาจักร |
- ยินดีที่สหราชอาณาจักรได้รับสถานะประเทศคู่เจรจาและได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 โดยจะร่วมมือกันในการผลิตและจำหน่ายยา เครื่องมือแพทย์และวัคซีนในราคาที่เหมาะสมและมีคุณภาพ - เห็นชอบปฏิญญาร่วมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคตระหว่างอาเชียนและสหราชอาณาจักร |
4. การหารือระหว่าง AEM กับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน มีการแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญและได้ดำเนินการในปี 2564 โดยเฉพาะการสร้างสภาพแวดล้อมและการเสริมสร้างความสามารถของแรงงานในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคเอกชนเพื่อรับมือผลกระทบจากโควิด-19
5. การหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างกัน โดยสิงคโปร์มีความสนใจในสาขาการเงิน การท่องเที่ยว การซื้อขายคาร์บอน และด้านดิจิทัล ส่วนไทยจะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเรื่องนี้ต่อไป นอกจากนี้ ไทยได้ขอให้สิงคโปร์สนับสนุนการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวและผลไม้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 ธันวาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12253