ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 10 December 2021 21:24
- Hits: 6706
ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป โดยให้ กค. รับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ กค. เสนอ
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่ กค. เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 เช่น กำหนดให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการสามารถรับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือชราภาพได้ กำหนดให้สมาชิกสามารถส่งเงินสะสมเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินเดือน (จากเดิมร้อยละ 15) กำหนดให้สมาชิกสามารถเลือกแผนการลงทุนได้หลากหลายขึ้น และกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย และผู้มีสิทธิรับมรดกของสมาชิกยังไม่ยื่นคำขอรับเงิน ให้กองทุนบริหารเงินนั้นต่อไปได้ตามแผนการลงทุนที่สมาชิกผู้นั้นได้เลือกไว้ก่อนวันที่ผู้นั้นถึงแก่ความตาย เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงานของกองทุนมีความคล่องตัว สอดคล้องกับสภาวะการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเพื่อให้สิทธิประโยชน์ของสมาชิกมีความเหมาะสมยิ่งขึ้นอันสามารถสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นให้กับสมาชิก ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว โดยได้ตัดหลักการที่กำหนดให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีอำนาจจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำกัดและหลักการที่กำหนดให้สมาชิกซึ่งเกษียณอายุราชการเมื่อมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และยังไม่ออกจากราชการมีสิทธิขอรับเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าวได้ตั้งแต่สิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ออก ซึ่ง กค. และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว
กค. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย ผ่านทางเว็บไซต์ ของ กบข. (www.gpf.or.th) และเว็บไซต์การรับฟังความคิดเห็นกฎหมายไทย (www.lawamendment.go.th) และเปิดเผยสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย รวมทั้งจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 แล้ว และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวให้ประชาชนได้รับทราบด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ประเด็นที่แก้ไข |
สาระสำคัญ |
|
1. การรับโอนทรัพย์สินจากกองทุนอื่น |
ให้กองทุนสามารถรับโอนเงินของผู้ที่เคยเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือชราภาพได้มายังกองทุนได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มาเข้ารับราชการสามารถเริ่มสะสมเงินกับ กบข. และได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเงินดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง |
|
2. การส่งเงินสะสมเข้ากองทุน |
เพิ่มเติมให้สมาชิกสามารถส่งเงินสะสมเข้ากองทุน จากเดิม ไม่เกินร้อยละ 15 เป็น ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินเดือน เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกออมเงินมากขึ้น |
|
3. สิทธิประโยชน์ของสมาชิก 3.1 การบริหารเงินของสมาชิกที่ถึงแก่ความตายก่อนสมาชิกภาพสิ้นสุดลง 3.2 การบริหารเงินของสมาชิกที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง |
- ให้กองทุนสามารถบริหารเงินของสมาชิกที่ถึงแก่ความตายและผู้มีสิทธิรับมรดกของสมาชิกยังไม่ยื่นคำขอรับเงิน (เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าว) ตามแผนการลงทุนเดิมของสมาชิกต่อไปได้ - ในกรณีที่สมาชิกภาพสิ้นสุดสมาชิกภาพและยังไม่ขอรับเงิน (เงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าว) ที่ตนมีสิทธิได้รับคืนหรือขอทยอยรับเงินคืน สมาชิกมีสิทธิเลือกแผนการลงทุนที่กองทุนจัดให้เพื่อให้กองทุนบริหารเงินนั้นต่อไปได้ เพื่อให้สมาชิกผู้นั้นสามารถปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนสำหรับเงินดังกล่าวได้ ตามความประสงค์ของสมาชิก - ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตายและผู้มีสิทธิรับมรดกของสมาชิกยังไม่ยื่นคำขอรับเงิน ให้กองทุนบริหารเงินนั้นต่อไปได้ตามแผนการลงทุนที่สมาชิกผู้นั้นได้เลือกไว้ก่อนวันที่ผู้นั้นถึงแก่ความตาย จนกว่าทายาทจะยื่นคำขอรับเงิน |
|
4. แผนการลงทุน |
เพิ่มเติมให้กองทุนจัดให้มีแผนการลงทุนสำหรับเงินที่อยู่ในบัญชีเงินรายบุคคลที่หลากหลายให้สมาชิกมีสิทธิเลือก คือ - กำหนดให้แต่ละแผนอาจกำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงแตกต่างกันได้ โดยกำหนดให้ลงทุนใน หลักทรัพย์ 4 ประเภท ได้แก่ 1) เงินฝากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือบัตรเงินฝากที่ธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ออก 2) พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย 3) ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ กค. ค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย 4) ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณเป็นผู้ออก (ทั้งนี้ อย่างน้อยต้องจัดให้มีแผนการลงทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60) - แต่ถ้าสมาชิกไม่ได้ใช้สิทธิเลือกแผนการลงทุนใดให้ถือว่าสมาชิกให้กองทุนจัดแผนการลงทุนที่กำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเหมาะสมกับช่วงอายุของสมาชิก |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12182