ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายอัยการ)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 10 December 2021 21:11
- Hits: 6694
ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายอัยการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้นำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปตรวจพิจารณารวมกับร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็นฉบับเดียวกัน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่ อส. เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเทียบเคียงกับหลักเกณฑ์การพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ในส่วนของมาตรา 55 (7) การพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุการถูกสั่งลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออก จากที่กำหนดให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งเป็นให้นำความกราบบังคมทูลให้ทรงทราบเพื่อให้เหมาะสมและมีลักษณะเช่นเดียวกับผู้พิพากษาและตุลาการ และเป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ที่กำหนดให้หากมีกรณีที่จะต้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 180 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในทำนองเดียวกันกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ให้เร่งรัดการพิจารณาเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยด่วน
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายอัยการตามมาตรา 55 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 ในส่วนของการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุการถูกสั่งลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกตามมาตรา 55 (7) จากให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งเป็นให้นำความกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ เพื่อให้เหมาะสมและมีลักษณะเช่นเดียวกับผู้พิพากษาและตุลาการ ซึ่งสรุปได้ ดังนี้
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ ฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 |
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ ฝ่ายอัยการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. |
|
การพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการอัยการ เว้นแต่ตำแหน่งอัยการผู้ช่วย 1. กรณีการพ้นจากตำแหน่งตาม (1) ตาย (2) พ้นจากราชการตามมาตรา 56 หรือ (3) ได้รับอนุญาตให้ลาออก ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ 2. กรณีการพ้นจากตำแหน่งตาม (4) โอนไปรับราชการเป็นข้าราชการธุรการหรือข้าราชการฝ่ายอื่น (5) ออกจากราชการเพื่อไปรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร (6) ถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 36 มาตรา 57 หรือ มาตรา 59 หรือ (7) ถูกสั่งลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออก ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง พระบรมราชโองการดังกล่าวให้มีผลตั้งแต่วันโอนหรือวันออกจากราชการ แล้วแต่กรณี |
การพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการอัยการ เว้นแต่ตำแหน่งอัยการผู้ช่วย 1. กรณีการพ้นจากตำแหน่งตาม (1) ตาย (2) พ้นจากราชการตามมาตรา 56 (3) ได้รับอนุญาตให้ลาออก หรือ (7) ถูกสั่งลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออก ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ 2. กรณีการพ้นจากตำแหน่งตาม (4) โอนไปรับราชการเป็นข้าราชการธุรการหรือข้าราชการฝ่ายอื่น (5) ออกจากราชการเพื่อไปรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร หรือ (6) ถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 36 มาตรา 57 หรือ มาตรา 59 ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง พระบรมราชโองการดังกล่าวให้มีผลตั้งแต่วันโอนหรือวันออกจากราชการ แล้วแต่กรณี |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12181