รายงานประจำปี 2563 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 10 December 2021 20:46
- Hits: 5547
รายงานประจำปี 2563 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) เสนอรายงานประจำปี 2563 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทั้งนี้ คณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในการประชุมครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 รับทราบรายงานดังกล่าวแล้ว (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 22 ที่บัญญัติให้ สวรส. จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แล้วให้เสนอรายงานประจำปีต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. สรุปผลงานเด่น
1.1 แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบยา เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยี
- การวิจัยสังเคราะห์และทบทวนเพื่อพัฒนามาตรการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์ โดย สวรส. ได้ศึกษาสถานการณ์อุปสงค์และอุปทาน รวมทั้งประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้กัญชาเพื่อนำไปพัฒนามาตรการและระบบการควบคุม ผลิต และจัดบริการที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ ตลอดจนป้องกันและลดผลกระทบทางลบ เพิ่มการใช้ประโยชน์จากกัญชาและสารสกัดในทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการที่เหมาะสมได้มากขึ้น
- การประเมินผลโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา1เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ระยะที่ 2 พบว่า ร้านยามีศักยภาพและมีส่วนสำคัญในการดูแลประชาชนท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ส่งผลให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563) มีมติให้เพิ่มการเข้าถึงบริการด้านยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และขยายจำนวนร้านยาในโครงการรับยาใกล้บ้าน ทั้งในและนอกหน่วยบริการพร้อมทั้งให้โรงพยาบาลเพิ่มเติมระบบจัดสำรองยาและระบบเติมยาของผู้ป่วยที่ร้านยา
- การพัฒนาการตรวจวิเคราะห์ระดับโมเลกุลเพื่อบ่งชี้การตอบสนองต่อการรักษาแบบจำเพาะบุคคลในผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดชาวไทย2 (ปีที่ 3) การศึกษานี้ได้สิทธิบัตรของการพัฒนาชุดไพรเมอร์การตรวจวิเคราะห์ระดับโมเลกุล เพื่อใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดที่จะได้รับยารักษาแบบมุ่งเป้าชนิดต่างๆ โดยจากการศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่า การตรวจด้วยชุดไพรเมอร์สามารถทำงานได้ง่ายและช่วยลดงบประมาณการสั่งชุดตรวจสำเร็จรูปจากต่างประเทศ และมีแผนการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับโรงพยาบาลที่สนใจ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถตัดสินใจให้การรักษาแบบมุ่งเป้าแบบต่างๆ ได้
1.2 แผนงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ เช่น
- การใช้แบบจำลองพลวัตระบบในการวางแผนบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพ ในระยะ 10 ปีข้างหน้า: โครงการนำร่องเขตสุขภาพที่ 2 งานวิจัยได้พัฒนาแบบจำลองพลวัตระบบรายสาขาโรค จำนวน 5 แบบจำลอง ได้แก่ สาขาบริการจักษุวิทยา โรคไต ศัลยกรรมทั่วไป โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และโรคมะเร็ง พบว่า การเพิ่มศักยภาพด้วยการเพิ่มเวลาทำงานของเครื่องมือหรือห้องผ่าตัดโดยลดเวลาที่สูญเสียการใช้ทรัพยากรร่วมกันแบบ pool resource การอบรมพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานเป็นการบริหารจัดการที่เหมาะสมเพื่อรองรับความต้องการบริการสุขภาพของประชาชนที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้น
1.3 แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
- การทบทวนระบบส่งต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งของศูนย์รังสีรักษา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลราชบุรีร่วมกับคณะแพทย์ศาสตรศิริราชพยาบาล ทำให้ได้รูปแบบการรักษาและขั้นตอนการส่งต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ลดระยะเวลาการตรวจที่ซ้ำซ้อน และสามารถนำไปพัฒนาระบบการรักษาและส่งต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยวิธีรังสีรักษาโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศดิจิทัล
1.4 แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เช่น
- โครงการผลของการออกกำลังและการบริโภคอาหารต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรไทยในจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า กิจกรรมการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในชุมชนสามารถทำได้จริง และมีประสิทธิภาพสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้ และมีผลการตรวจทางชีวเคมีในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ควรปรับกลยุทธ์ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในแง่ของการทำกิจกรรมและงบประมาณ
1.5 แผนงานวิจัยและพัฒนาการเงินการคลังสุขภาพ เช่น
- การประเมินความคุ้มค่าการผ่าตัดปลูกถ่ายตับในผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะกลางและระยะท้ายภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนมีผลต่อการเข้าถึงการรักษาโรคดังกล่าว เนื่องจากเป็นการรักษาที่มีราคาค่อนข้างสูง ส่วนการประมาณการผลกระทบด้านภาระงบประมาณสำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปีที่ 1 เท่ากับ 35 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 71.7 ล้านบาท 100.6 ล้านบาท และ 147 ล้านบาทในปีที่ 5 ในปีที่ 10 และปีที่ 20 ตามลำดับ
1.6 แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพ
- การออกแบบระบบและกลไกในการขับเคลื่อนเขตสุขภาพที่ 6 พบว่า ควรมีการออกแบบมาตรการเพื่อการขับเคลื่อนการทำงานของเขตสุขภาพให้เกิดความคล่องตัวและบรรลุเป้าหมายใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) การบริหารจัดการเขตสุขภาพและสำนักงานเขตสุขภาพ 2) การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล 3) การมอบอำนาจเกี่ยวกับการบริหารจัดการเขตสุขภาพ และ 4) การเพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณสุขและสร้างความยั่งยืนทางการเงินการคลังของหน่วยบริการ
1.7 แผนงานวิจัยและพัฒนากลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
- การพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในที่พักอาศัยเพื่อการฟื้นฟูผู้สูงอายุภาวะสมองเสื่อมและภาวะซึมเศร้า ได้มีการจัดทำคู่มือแนวทางการออกแบบอาคารที่พักอาศัย ทั้งโรงพยาบาลและบ้านพักอาศัยแบบเดี่ยว เพื่อช่วยฟื้นฟูอาการสมองเสื่อมของผู้สูงอายุ ซึ่งหลังจากการพัฒนาสภาพแวดล้อม พบว่า ผู้สูงอายุมีอาการสมองเสื่อมลดลงและมีสุขภาวะที่ดีขึ้น
1.8 แผนงานวิจัยจีโนมิกส์3ประเทศไทย
- การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อรองรับการสนับสนุนบริการการแพทย์จีโนมิกส์ เช่น การจัดตั้งศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมของอาสาสมัครไทย จำนวน 50,000 ราย
- การพัฒนาการวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ เพื่อศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมและค้นหาความผิดปกติบนจีโนมของประชากรไทยเพื่อเป็นฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิง ตลอดจนเพื่อวิเคราะห์สังเคราะห์หาปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องระหว่างยีนกันสุขภาพ/การเกิดโรค โดยมุ่งเป้าใน 5 โรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็ง โรคที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและหายาก โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อ และกลุ่มเภสัชพันธุศาสตร์ ป้องกันการแพ้ยาและการเลือกใช้ยาที่เหมาะสม
1.9 แผนงานวิจัยเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
- การพัฒนาแบบจำลองบูรณาการระบบการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 เพื่อสนับสนุนกระบวนการการตัดสินใจเชิงนโยบาย รวมทั้งนำมาใช้ในการวางแผนปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยในระยะยาว
- โครงการการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและชุมชนในการป้องกันและเฝ้าระวังโรคโควิด-19 โดยใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ และนำมาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันชื่อ “EpiScanCovid19” ซึ่งผลวิจัยเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการตอบสนองการจัดการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ทันต่อสถานการณ์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. งบแสดงฐานะการเงินและงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผนดินได้ตรวจสอบรับรองแล้วเห็นว่า ถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด
หน่วย : ล้านบาท
รายการ |
ปี 2563 |
ปี 2562 |
เพิ่มขึ้น/ลดลง |
2.1 งบแสดงฐานะการเงิน |
|||
รวมสินทรัพย์ |
1,310.59 |
892.60 |
417.99 |
รวมหนี้สิน |
624.47 |
161.30 |
463.17 |
รวมสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน |
686.12 |
731.30 |
(45.18) |
2.2 งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน |
|||
รวมรายได้ |
514.12 |
324.67 |
189.45 |
รวมค่าใช้จ่าย |
559.15 |
323.99 |
235.16 |
รายได้สูง/(ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ |
(45.03) |
0.68 |
(45.71) |
__________________________
1เป็นงานวิจัยต่อเนื่องเพื่อประเมินผลโครงการนำร่องให้ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางจิตเวช และหอบหืด หรือโรคเรื้อรังที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล สามารถรับยาได้ที่ร้านยาเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19
2การรักษาโรคมะเร็งแบบจำเพาะบุคคลด้วยยารักษาแบบมุ่งเป้าเป็นแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำลายเซลล์มะเร็งอย่างจำเพาะ และเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยกว่าการผ่าตัด การฉายรังสี หรือเคมีบำบัด สวรส. จึงได้พัฒนาการตรวจวิเคราะห์ระดับโมเลกุลเพื่อบ่งชี้การตอบสนองต่อการรักษาแบบมุ่งเป้าในผู้ป่วยมะเร็งปอด และทดสอบความเป็นไปได้ในการตรวจหาการกลายพันธุ์ในเลือดหรือปัสสาวะของผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงศึกษาเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ที่มีผลต่อการตอบสนองต่อยารักษามะเร็งปอดแบบมุ่งเป้า
3การแพทย์จีโนมิกส์เป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่สำหรับการรักษาพยาบาลและการวิจัยทางการแพทย์ โดยการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการถอดรหัสดีเอ็นเอเพื่อนำมาใช้ในการรักษาแบบเฉพาะบุคคล (การออกแบบยาเพื่อใช้เฉพาะบุคคล ลดการแพ้ยา) การเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์และวินิจฉัยโรคได้ถึงระดับเซลล์ และการออกแบบการรักษาได้ทั้งโรคที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและอาจเป็นในอนาคต ซึ่งจะทำให้การรักษาโรคต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12176