WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2564

GOV9

รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2564

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม .. 2564 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม .. 2543 มาตรา 11 (4) ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเสนอรายงานเกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศต่อคณะรัฐมนตรีและจัดให้มีการเผยแพร่รายงานดังกล่าวต่อสาธารณชนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. สถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2564 

                 1.1 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-sized Enterprises: MSME) ปี 2563 มีมูลค่า 5,376,066 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.2 ต่อ GDP รวมทั้งประเทศ ลดลงจากปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 35.0 โดยมีอัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 9.1 เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบทางลบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจและการค้าทั่วโลก

                 1.2 การค้าระหว่างประเทศของ MSME ปี 2563 การส่งออกของ MSME มีมูลค่า 839,750.12 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.70 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดลดลงจากปีก่อนร้อยละ 17.08 ขณะที่การนำเข้าของ MSME มีมูลค่าเท่ากับ 1,018,921.19 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.6 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 19.98 ทำให้ในภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของ MSME ขาดดุลการค้า 179,171.07 ล้านบาท

                 1.3 ดัชนีความเชื่อมั่นของ MSME ปี 2563 เฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-กันยายน 2563) อยู่ที่ระดับ 42.5 ซึ่งต่ำกว่าระดับค่าฐานที่ 50 เป็นผลจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวด การล็อกดาวน์ และการจำกัดการทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ทำให้ธุรกิจ MSME หลายแห่งต้องปิดกิจการชั่วคราว ส่งผลให้ขาดรายได้และมีสภาพคล่องต่ำ อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ระลอกที่ 1) เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มรายได้และกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่น MSME คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (ตุลาคม-ธันวาคม 2564) อยู่ที่ระดับ 52.2 ซึ่งสูงกว่าค่าฐานที่ 50 สะท้อนว่า MSME ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้ผล และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ MSME ยังคงมีความกังวลต่อการดำเนินธุรกิจหากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐสิ้นสุดลงและนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้

 

TU720x100

 

                 1.4 จำนวนและการจ้างงาน MSME ปี 2563 MSME มีจำนวน 3,134,442 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.54 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งประเทศ ขยายตัวจากปีก่อน ร้อยละ 0.95 โดยอยู่ในภาคการค้ามากที่สุด รองลงมาคือ ภาคการบริการ ภาคการผลิต และภาคธุรกิจเกษตร ทั้งนี้ มีนิติบุคคล MSME ที่จัดตั้งใหม่มีจำนวน 62,321 ราย และยกเลิกและเสร็จชำระบัญชี จำนวน 20,853 ราย ส่วนการจ้างงานของ MSME มีจำนวน 12,714,916 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.70 ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ

                 1.5 การวิเคราะห์การสำรวจยอดขายรายไตรมาสของ MSME ในช่วงปี 2562-2563 เมื่อพิจารณาจากอัตราการขยายตัวของยอดขายรายไตรมาสของปี 2563 เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 พบว่า อัตราการขยายตัวของยอดขายลดลงต่ำที่สุดในไตรมาสที่ 3/2563 เป็นผลสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ยอดขายของ MSME มีแนวโน้มดีขึ้นเนื่องจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อยอดขายในปี 2563 ได้แก่ กำลังซื้อของลูกค้า ภาวะเศรษฐกิจ และด้านฤดูกาล เทศกาล

                 1.6 ประเด็นการศึกษาภายใต้โครงการสำรวจความต้องการของ MSME มีจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ (1) การศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบการเงินเพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเท่าเทียมกันและ (2) การศึกษาความสามารถของผู้ประกอบการขนาดย่อยในการปรับตัวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

                 1.7 ทิศทางเศรษฐกิจตามวิถีความปกติใหม่ (Next Normal*) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวิถีการดำรงชีวิตของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การยกระดับชีวอนามัยและความปลอดภัยของบุคคลและการพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินชีวิตที่มากขึ้น ซึ่งการคาดการณ์ก้าวต่อไปของ Next Normal จะช่วยสะท้อนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปซึ่งมีผลต่อการประกอบธุรกิจและโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ อีกทั้งจะเป็นแนวทางในการจัดทำนโยบายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการซึ่งภาครัฐจะต้องกำหนดทิศทางเพื่อรับมือกับบริบทที่เปลี่ยนไป

 
BANPU 720x100

 

                 1.8 ผู้ให้บริการในการพัฒนาธุรกิจ (Business Development Service: BDS) สำหรับการพัฒนาศักยภาพของ MSME โดย BDS คือหน่วยงานหรือบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือแก่ธุรกิจในด้านต่างๆ ที่ไม่ใช่บริการทางการเงิน เพื่อให้ธุรกิจมีการพัฒนาศักยภาพและสามารถสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจ เช่น การตลาด การบริหารจัดการ การพัฒนาสินค้า และการเข้าถึงข้อมูลซึ่งจากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลความต้องการของผู้ประกอบการ MSME ในการเข้าใช้บริการต่างๆ ของ BDS พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการพัฒนาด้านการพัฒนาธุรกิจเพื่อการเจริญเติบโต และหากพิจารณาสภาพปัญหาที่พบจากการดำเนินธุรกิจพบว่า ผู้ประกอบการ MSME ส่วนใหญ่ต้องการ BDS ที่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญในการดำเนินกิจการได้ เช่น เงื่อนไขทางการค้าหรือข้อกำหนดทางด้านมาตรฐานที่ส่งผลให้ธุรกิจอาจสูญเสียโอกาสทางการค้า นอกจากนี้ ควรให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อมเป็นอันดับแรก เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจมากกว่าวิสาหกิจขนาดกลาง โดยควรเน้นหรือให้ความสำคัญกับรูปแบบการช่วยเหลือในลักษณะการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาธุรกิจ

                 1.9 มาตรการการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

                          1.9.1 การให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) โดยมีผู้ประกอบวิสาหกิจด้านการพาณิชย์เข้าร่วมมาตรการมากที่สุด รองลงมา คือ ด้านอุตสาหกรรมการผลิต และด้านการบริการและอื่นๆ โดยวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยเท่ากับ 1.7 ล้านบาทต่อราย และพบว่าเป็นลูกหนี้รายเล็กมากที่สุด

                          1.9.2 มาตรการรักษาระดับการบริโภคของประเทศ ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและโครงการคนละครึ่ง โดย MSME ได้ประโยชน์ เช่น ผู้ประกอบการรายย่อยมีรายได้และยอดขายเพิ่มขึ้น การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่เกี่ยวกับระบบสั่งซื้อสินค้าหรือชำระเงิน รวมทั้งประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศ

 

 sme 580x400

 

          2. สถานการณ์ MSME ในช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม) ของปี 2564

                 2.1 มูลค่า GDP MSME ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 4.2 และมีสัดส่วนต่อ GDP ประเทศเท่ากับร้อยละ 34.5 แต่เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า การฟื้นตัวยังช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ส่วนของแนวโน้มเศรษฐกิจ MSME ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าธุรกิจขนาดกลางมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้เร็วจากโครงสร้างของธุรกิจและสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ขณะที่ธุรกิจรายย่อยจะได้รับประโยชน์จากมาตรการเงินเยียวยาและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่จะเริ่มอีกครั้งในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศและ MSME จะเริ่มฟื้นตัวได้เต็มที่อย่างเร็วที่สุดในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 

                 2.2 มูลค่าการส่งออกของ MSME ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 608,196.2 ล้านบาท (19,921.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 30.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยตลาดส่งออกหลักของ MSME มีการขยายตัวในทุกตลาด ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลไม้สดและยางและผลิตภัณฑ์ยาง โดยมูลค่าการนำเข้าของ MSME มีมูลค่า 22,795.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.6

 

ais 720x100

 

                 2.3 ดัชนีความเชื่อมั่นของ MSME ในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ของปี 2564 อยู่ที่ระดับ 40.6 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 41.3 ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลงอย่างมากและเกิดการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ส่งผลให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ MSME อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าฐานที่ 50 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการกระตุ้นการบริโภครวมทั้งมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าและการเร่งฉีดวัคซีนที่มากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

                 2.4 การจ้างงานของ MSME ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีจำนวนรวม 12,982,144 คน เมื่อพิจารณาตามขนาดของธุรกิจ พบว่า วิสาหกิจขนาดย่อมมีจำนวนการจ้างงานมากที่สุด จำนวน 5,274,773 คน รองลงมา คือ วิสาหกิจขนาดย่อย จำนวน 5,241,617 คน และวิสาหกิจขนาดกลาง จำนวน 2,465,754 คน ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาตามประเภทของธุรกิจ พบว่า MSME ในภาคการบริการมีการจ้างงานมากที่สุด จำนวน 5,679,571 คน รองลงมา คือ ภาคการค้าจำนวน 4,298,458 คน ภาคการผลิต จำนวน 2,929,485 คน และภาคธุรกิจการเกษตร จำนวน 74,615 คน

__________________________

*หมายเหตุ : Next Normal หมายถึง การปรับเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรม รูปแบบการดำเนินชีวิต หรือวิธีการดำเนินงานขององค์กร เพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งทางด้านสังคม ธุรกิจ เศรษฐกิจ และการเมือง ภายหลังการระบาดของโควิด-19 โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากประเทศที่มีความโดดเด่นทางเศรษฐกิจจำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐไอร์แลนด์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤศจิกายน 2564

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A12175

Click Donate Support Web

EXIM One 720x90 C JGC 720x100

 

QIC 720x100

เจนเนอราลี่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!