ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การบริหารจัดการด้านกฎหมายในกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นสมควรดำเนินการไกล่เกลี่ย ประนีประนอมข้อพิพาทในด้านสิทธิมนุษยชน ของคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 10 December 2021 20:18
- Hits: 5541
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การบริหารจัดการด้านกฎหมายในกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นสมควรดำเนินการไกล่เกลี่ย ประนีประนอมข้อพิพาทในด้านสิทธิมนุษยชน ของคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การบริหารจัดการด้านกฎหมายในกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นสมควรดำเนินการไกล่เกลี่ย ประนีประนอมข้อพิพาทในด้านสิทธิมนุษยชน ของคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) สนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การบริหารจัดการด้านกฎหมายในกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นสมควรดำเนินการไกล่เกลี่ย ประนีประนอมข้อพิพาทในด้านสิทธิมนุษยชน ของคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะ กรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหาแนวทางแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างหรือเชิงระบบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นอีก และควรมีหน้าที่ในการศึกษาและหาวิธีการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่าการเข้าไปจัดการหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง สำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีความเกี่ยวเนื่องกับข้อพิพาททางแพ่งอาจนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอาจออกประกาศและกำกับดูแลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 รวมทั้งควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ให้มีหน้าที่และอำนาจในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอย่างชัดแจ้ง
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ยธ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
คค. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานตามข้อ 2 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ สรุปได้ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ กมธ. |
ผลการพิจารณาศึกษา |
|
1. ควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ให้มีหน้าที่และอำนาจในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอย่างชัดแจ้งโดยบัญญัติให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน กสม. ในการดำเนินการจัดให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 2. ควรกำหนดให้บันทึกข้อตกลงที่เกิดขึ้นมีผลทางกฎหมาย และในระหว่างการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทควรให้อายุความสะดุดหยุดอยู่เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 รวมทั้งควรกำหนด กรณีที่มิให้นำมาไกล่เกลี่ย เช่น กรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการล่วงละเมิดและการคุกคามทางเพศ เป็นต้น |
กห. (กรมพระธรรมนูญ) มท. (กรมการปกครอง) อส. ศย. สำนักงาน กสม. และ ยธ. มีความเห็นสอดคล้องกันในการกำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ โดยให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 เพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้อย่างชัดแจ้ง เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลักการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมและเป็นไปตามหลักการปารีสเกี่ยวกับสถานะของคณะกรรมการฯ ที่มีอำนาจหน้าที่กึ่งศาล รับฟังและพิจารณาข้อร้องเรียนและเรื่องราวร้องทุกข์ โดยแสวงหาแนวทางยุติปัญหาอย่างสมานฉันท์ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะให้นำประเด็นเกี่ยวกับผลทางกฎหมายของบันทึกข้อตกลง หลักอายุความสะดุดหยุดลง และการกำหนดกรณีข้อพิพาทที่มิให้นำมาไกล่เกลี่ยไปพิจารณาประกอบการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ให้มีความเหมาะสมต่อไป |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12173