การเสนอความเห็นการขอจัดตั้งทุนหมุนเวียนของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 10 December 2021 20:17
- Hits: 6306
การเสนอความเห็นการขอจัดตั้งทุนหมุนเวียนของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการพิจารณาการขอจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ (กองทุนฯ) ตามร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... ในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน (คณะกรรมการฯ) เสนอ และให้กระทรวงแรงงาน (สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน) รับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการฯ รายงานว่า
1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ที่ไม่เห็นควรให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ (มติคณะรัฐมนตรี 20 เมษายน 2564) กระทรวงแรงงาน (รง.) ได้นำความเห็นของคณะกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... โดยกำหนดให้โอนกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านมาอยู่ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและขยายวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ/กลุ่มแรงงานนอกระบบ1 ทุกกลุ่มอาชีพ และได้เปลี่ยนชื่อ จาก “กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ” เป็น “กองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ” และ รง. ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งกองทุนฯ ในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน รง. ต่อคณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.1 กองทุนฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
1. วัตถุประสงค์ของกองทุนฯ |
เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยเงินของกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ ดังนี้ (1) รณรงค์ส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ (2) ช่วยเหลือและอุดหนุนกลุ่มแรงงานนอกระบบ หรือองค์กรแรงงานนอกระบบที่จัดตั้งตามร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... (3) ว่าจ้างสมาคม มูลนิธิ องค์กรเอกชน หรือนิติบุคคล เพื่อดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ (4) ให้แรงงานนอกระบบกู้ยืมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพ (5) เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีสิทธิประโยชน์อื่นใดแก่แรงงานนอกระบบ (6) ใช้จ่ายในการบริหารกองทุนฯ รวมไปถึงค่าเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นของคณะกรรมการบริหารกองทุนและคณะอนุกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้ง (7) เป็นแหล่งงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานตามความเหมาะสม |
2. เป้าหมาย |
(1) แรงงานนอกระบบ ซึ่งมีอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งทุนของสถาบันการเงิน มีทุนกู้ยืมสำหรับการประกอบอาชีพ (2) มีงบประมาณเพื่อช่วยเหลือและอุดหนุนหรือว่าจ้างสมาคม มูลนิธิ องค์กรเอกชนหรือนิติบุคคล เพื่อดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ทั้งมิติโอกาสในการประกอบอาชีพ การพัฒนาทักษะฝีมือ การคุ้มครองสภาพการทำงานที่เหมาะสม และการสร้างหลักประกันทางสังคมที่มั่นคง |
3. แหล่งเงินทุน |
(1) เงินที่โอนมาจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน (จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 และดำเนินการบริหารกองทุนตามระเบียบกรมการจัดหางาน พ.ศ. 2559) (2) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ (3) เงินอุดหนุนรัฐบาล (4) เงินค่าปรับที่ได้รับจากการลงโทษผู้กระทำความผิดตามร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... (5) เงินค่าสมาชิก (สมาชิกกองทุนฯ จ่ายให้) (6) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรืออุทิศให้ (7) เงินที่ได้รับจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ (8) ดอกผลและผลประโยชน์ที่เกิดจากกองทุน (9) เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินของกองทุนหรือที่ได้จากการจัดหารายได้ (10) เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือกองทุนได้รับจัดสรรจากกฎหมายอื่น (11) เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่กองทุนได้รับไม่ว่ากรณีใด |
1.2 ข้อชี้แจงของ รง. ต่อคณะกรรมการฯ เกี่ยวกับประเด็นความซ้ำซ้อนกับภารกิจปกติของ รง. ทุนหมุนเวียนอื่น และความยั่งยืนของแหล่งรายได้ของกองทุนฯ
ประเด็น (จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564) |
ข้อชี้แจงของ รง. ต่อคณะกรรมการฯ |
|||||||||||||||||||||||||||||||||
1. ความซ้ำซ้อนกับภารกิจปกติหน่วยงานในสังกัดของ รง. |
||||||||||||||||||||||||||||||||||
(1) สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน (สำนักงานนโยบายแรงงานนอกระบบ) (2) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ) |
- ภารกิจในการรณรงค์ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบของกองทุนฯ ไม่ซ้ำซ้อนกับภารกิจของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน (สำนักงานนโยบายแรงงานนอกระบบ) มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ) มีภารกิจสำคัญในการคุ้มครองแรงงานนอกระบบเฉพาะกลุ่มที่กฎหมายกำหนดไว้ให้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้แก่ กลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน กลุ่มลูกจ้างทำงานเกษตรกรรม (ได้รับความคุ้มครองก็ต่อเมื่อมีนายจ้างหรือผู้จัดจ้างงานเท่านั้น) - ภารกิจการช่วยเหลือและอุดหนุนกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือองค์กรแรงงานนอกระบบที่เสนอแผนงานหรือโครงการและการว่าจ้างสมาคม มูลนิธิ องค์กรเอกชน หรือนิติบุคคล เพื่อดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบของกองทุนฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายการดำเนินงานด้านแรงงานนอกระบบจึงไม่ซ้ำซ้อนกับภารกิจปกติ เนื่องจากทุกหน่วยงานในสังกัด รง. ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบจะดำเนินงานโดยหน่วยงานเองไม่มีการช่วยเหลือหรืออุดหนุนให้หน่วยงานอื่นไปดำเนินการหรือว่าจ้างสมาคม มูลนิธิ องค์กรเอกชนหรือนิติบุคคล เพื่อดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ |
|||||||||||||||||||||||||||||||||
(3) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน) |
- ภารกิจการให้แรงงานนอกระบบกู้ยืมเพื่อส่งเสริมและสนับสุนนการประกอบอาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบของกองทุนฯ มิใช่การพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงไม่ซ้ำซ้อนกับภารกิจของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างที่เป็นแรงงานในระบบกู้ยืมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือเท่านั้น |
|||||||||||||||||||||||||||||||||
2. ความซ้ำซ้อนกับทุนหมุนเวียนอื่น |
||||||||||||||||||||||||||||||||||
(1) กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน |
- ปัจจุบัน รง. ได้กำหนดให้โอนกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านมาอยู่ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... และขยายวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพ และได้เปลี่ยนชื่อ จาก กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ เป็น กองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ |
|||||||||||||||||||||||||||||||||
(2) กองทุนประกันสังคม |
- การจัดให้มีสิทธิประโยชน์อื่นของกองทุนจะเป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด ตามความเหมาะสมกับความต้องการของแรงงานนอกระบบ และสถานะของกองทุน เช่น การประกันทรัพย์สิน การประกันอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยให้กับบุคคลในครอบครัว เป็นต้น ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกับสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับสิทธิประโยชน์ 6 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ และเสียชีวิต สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด 5 กรณี ได้แก่ ค่าทดแทนขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร |
|||||||||||||||||||||||||||||||||
3. แหล่งเงินทุน |
||||||||||||||||||||||||||||||||||
ประมาณการรายรับและรายจ่ายของกองทุน ดังนี้ 3.1 ประมาณการรายรับของกองทุน ประมาณ 481.95 ล้านบาท
3.2 ประมาณการรายจ่ายของกองทุน ประมาณ 247.59 ล้านบาท
* ในการประมาณการเงินค่าสมาชิกซึ่งเป็นรายได้หลักของกองทุนฯ เดิม รง. ได้คาดการณ์ว่าจะมีสมาชิก จำนวน 1 ล้านราย โดยกำหนดเก็บเงินค่าสมาชิกเป็นรายปี คนละ 100 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 100 ล้านบาท และเงินทุนประเดิม จำนวน 100 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 พิจารณาแล้วเห็นว่า เงินค่าสมาชิกจำนวนดังกล่าวที่เก็บได้อาจไม่ยั่งยืนทำให้ต้องใช้เงินงบประมาณเป็นรายได้หลัก ต่อมา รง. ได้ปรับเงินค่าสมาชิกเข้ากองทุนและประมาณการเงินค่าสมาชิกอีกครั้ง โดยกำหนดเก็บเงินสมาชิกรายปีคนละ 360 บาท (เป็นราคาที่สำรวจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว เห็นว่ามีความเหมาะสม) รวมเป็นเงิน 360 ล้านบาท ประกอบกับเงินทุนที่โอนมาจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านอีกจำนวน 12.90 ล้านบาท และเงินทุนประเดิม จำนวน 100 ล้านบาท พร้อมเงินดอกผลและเงินค่าปรับต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประมาณการรายจ่ายของกองทุนฯ ประมาณ 247.59 ล้านบาทแล้ว เห็นว่า เงินรายได้จากค่าสมาชิกจำนวนดังกล่าวสามารถทำให้แผนการดำเนินงานของกองทุนสามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ
หมายเหตุ : แรงงานนอกระบบจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการกู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพและสิทธิประโยชน์อื่นใด ก็ต่อเมื่อแรงงานนอกระบบจ่ายเงินค่าสมาชิกเข้ากองทุนฯ เป็นรายปี |
2. คณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ได้พิจารณาวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งและแหล่งรายได้ของกองทุนฯ ตามร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... แล้วเห็นว่า หากกองทุนฯ สามารถบริหารจัดการแรงงานนอกระบบได้ ก็จะทำให้ไม่เป็นภาระของหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากเป็นการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้และสวัสดิการสำหรับแรงงานนอกระบบ จึงเห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งกองทุนฯ โดยมีข้อสังเกต ดังนี้
2.1 แผนรายรับของกองทุนฯ ควรมีความชัดเจนและมีแหล่งรายได้ที่แน่นอน พร้อมทั้งจัดทำแผนประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อหาสมาชิกให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
2.2 แผนการดำเนินงานและวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ จะต้องมีความชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อนกับทุนหมุนเวียนอื่น
3. ไม่ควรกำหนดให้กองทุนฯ เป็นแหล่งเงินงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานนโยบายแรงงานนอกระบบ ควรดำเนินงานผ่านงบประมาณปกติของหน่วยงาน สำหรับกรณีสำนักงานนโยบายแรงงานนอกระบบต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนก็สามารถขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนได้อยู่แล้ว รวมทั้งการกำหนดให้จ่ายเงินกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีสิทธิประโยชน์อื่นใดแก่แรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นการกำหนดวัตถุประสงค์ที่เปิดกว้างมาก จึงเห็นควรระบุสิทธิประโยชน์ดังกล่าวให้ชัดเจนจะเหมาะสมกว่า
___________________________
1แรงงานนอกระบบหมายถึง ผู้มีงานทำแต่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน โดยมีลักษณะการจ้างงานไม่เป็นระบบ ไม่มีสวัสดิการ รายได้ไม่แน่นอนและไม่ต่อเนื่อง กลุ่มแรงงานนอกระบบหมายถึง แรงงานนอกระบบที่รวมกลุ่มตามลักษณะอาชีพ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12172