รายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 10 December 2021 12:14
- Hits: 6264
รายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้เสนอรัฐสภาทราบต่อไป
สาระสำคัญของรายงาน
1. รายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ. 2563
1.1 ความเป็นมาและข้อเท็จจริง
พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 บัญญัติให้ กค. โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินหรือออกตราสารหนี้ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อนำไปใช้ในแผนงานหรือโครงการตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ วงเงินรวมไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 และตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 บัญญัติให้ภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณให้ กค. รายงานการกู้เงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 ในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบ โดยรายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดของการกู้เงิน วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับ
1.2 รายละเอียดการกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ. 2563
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 กค. ได้ลงนามในสัญญากู้เงินและออกตราสารหนี้ วงเงินรวม 987,012.41 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.70 ของวงเงินกู้ตามพระราชกำหนด โดยเป็นการกู้เงินในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 613,251.41 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1) ตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 220,000 ล้านบาท 2) สัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) จำนวน 130,745.46 ล้านบาท 3) พันธบัตรออมทรัพย์ จำนวน 110,000 ล้านบาท 4) พันธบัตรรัฐบาล จำนวน 107,000 ล้านบาท และ 5) เงินกู้ต่างประเทศ จำนวน 45,505.95 ล้านบาท
1.3 วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้
คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนงานหรือโครงการตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ จำนวน 1,151 โครงการ โดยมีหน่วยงานที่ขอยกเลิกโครงการเนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จำนวน 21 โครงการ คงเหลือโครงการที่ดำเนินการและใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 จำนวน 1,130 โครงการ วงเงินรวม 987,012.41 ล้านบาท โดยหน่วยงานได้เบิกจ่ายเงินกู้แล้ว จำนวน 870,083.29 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 88.15 ของวงเงินอนุมัติ ประกอบด้วย 3 แผนงานหรือโครงการ ดังนี้
(1) แผนงานที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินกู้ 45,000 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้นำวงเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 2 และแผนงานที่ 3 มาใช้ในแผนงานที่ 1 เพิ่มเติมรวม 18,897.99 ล้านบาท ทำให้แผนงานที่ 1 มีวงเงินกู้เพิ่มขึ้นรวม 63,897.99 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายสำหรับโครงการเพื่อให้บริการด้านสาธารณสุข เช่น การรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ COVID-19 การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และการให้ปริมาณการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 การจ้างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคในระดับหมู่บ้านและชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ หน่วยงานมีการเบิกจ่ายเงินกู้แล้วรวม 50,216.93 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78.59 ของวงเงินอนุมัติ
(2) แผนงานที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินกู้ 555,000 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้นำวงเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3 มาใช้ในแผนงานที่ 2 และให้นำวงเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 2 ไปใช้ในแผนงานที่ 1 รวม 5,871.87 ล้านบาท ทำให้แผนงานที่ 2 มีวงเงินกู้เพิ่มขึ้นรวม 709,059.02 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ทั้งกลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบประกันสังคม รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานโดยการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาให้กับผู้ใช้บริการประเภทบ้านพักอาศัยและสถานประกอบการขนาดเล็ก ทั้งนี้ หน่วยงานมีการเบิกจ่ายเงินกู้แล้วรวม 694,602.32 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 97.96 ของวงเงินอนุมัติ
(3) แผนงานที่ 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ไดรับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้นำวงเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3 ไปใช้ในแผนงานที่ 1 และแผนงานที่ 2 รวม เพิ่มเติมรวม 172,957.01 ล้านบาท ทำให้แผนงานที่ 3 คงเหลือวงเงินกู้ 227,042.99 ล้านบาท และมีแผนงาน/โครงการที่ได้รับอนุมัติจำนวน 214,055.40 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายเงินกู้ในแผนงานและโครงการเพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคของภาคเอกชน การฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงาน สร้างอาชีพ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ ทั้งนี้ หน่วยงานมีการเบิกจ่ายเงินกู้แล้วรวม 125,264.04 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.52 ของวงเงินอนุมัติ
1.4 ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับจากการกู้เงิน
การดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 161 โครงการ แบ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงานที่ 1 รวม 14 โครงการ แผนงานที่ 2 รวม 17 โครงการ และแผนงานที่ 3 รวม 130 โครงการ
1.5 การดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
กค. โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะทยอยดำเนินการประเมินผลโครงการที่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาของโครงการ โดยจะเสนอผลการประเมินตลอดจนผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่เหลือในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และรายงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อทราบต่อไป
2. รายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้ เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
2.1 ความเป็นมาและข้อเท็จจริง
พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 บัญญัติให้ กค. โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศหรือออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 เพื่อนำไปใช้ในแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ วงเงินรวมไม่เกิน 5 แสนล้านบาท และตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 บัญญัติให้การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและจัดการการกู้เงิน การเบิกจ่ายเงินกู้ การชำระหนี้ การรายงานการกู้เงิน และการอื่นใดที่เกี่ยวกับการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ให้นำความในมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 มาใช้บังคับด้วยอนุโลม
2.2 รายละเอียดของการกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 กค. ได้ดำเนินการกู้เงินแล้ว จำนวน 144,166.35 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.83 ของวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยการออกตราสารหนี้ในนามรัฐบาล ประกอบด้วยตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 114,166.35 ล้านบาท และพันธบัตรรัฐบาล จำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่ง กค. จะทยอยกู้เงินเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการเพิ่มเติมตามความจำเป็นและความสอดคล้องกับการใช้เงินของโครงการต่อไป
2.3 วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้
คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนงานหรือโครงการตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ จำนวน 18 โครงการ วงเงินรวม 144,166.35 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนงานและโครงการภายใต้แผนงานที่ 1 จำนวน 3 โครงการ วงเงิน 18,372.04 ล้านบาท และแผนงานที่ 2 จำนวน 15 โครงการ วงเงิน 125,794.31 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานได้เบิกจ่ายเงินกู้แล้วจำนวน 109,835.74 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.19 ของวงเงินอนุมัติ ประกอบด้วย 2 แผนงานหรือโครงการ ดังนี้
(1) แผนงานที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินกู้รวม 30,000 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายสำหรับโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อให้บริการกับประชาชน เพิ่มเติม จำนวน 41,999,970 โดส หน่วยงานมีการเบิกจ่ายเงินกู้ภายใต้โครงการแล้ว จำนวน 4,090.32 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.26 ของวงเงินอนุมัติ
(2) แผนงานที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินกู้ 300,000 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายสำหรับโครงการให้การสนับสนุนเงินช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายของประชาชน ทั้งในด้านการดำรงชีวิตประจำวัน การประกอบธุรกิจ และค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้กับผู้ปกครองในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หน่วยงานมีการเบิกจ่ายเงินกู้ภายใต้โครงการแล้ว จำนวน 105,745.42 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 84.06 ของวงเงินอนุมัติ
2.4 ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับจากการกู้เงิน
คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 จำนวน 18 โครงการ วงเงินรวม 144,166.35 ล้านบาท และหน่วยงานได้เบิกจ่ายเงินกู้แล้วจำนวน 109,835.75 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.19 ของวงเงินอนุมัติ โดยทุกโครงการยังคงมีสถานะอยู่ระหว่างการเบิกจ่ายเงินกู้ เช่น โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชาชนในประเทศไทย เพิ่มเติม โครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โครงการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็นต้น โดยทุกโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสายอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมุ่งเน้นการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อให้บริการกับประชาชน การสนับสนุนเงินช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายของประชาชนทั้งในด้านการดำรงชีวิตประจำวัน การประกอบธุรกิจ และค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้กับผู้ปกครองในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
2.5 การดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
เนื่องจากยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและอยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการ ซึ่ง กค. จะรายงานผลการกู้เงินและผลสัมฤทธิ์เมื่อโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12161