ถ้อยแถลงร่วมของการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยความร่วมมือด้านวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 1 (First Meeting of the International Forum on COVID-19 Vaccine Cooperation)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 10 December 2021 12:05
- Hits: 5751
ถ้อยแถลงร่วมของการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยความร่วมมือด้านวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 1 (First Meeting of the International Forum on COVID-19 Vaccine Cooperation)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อถ้อยแถลงร่วมของการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยความร่วมมือด้านวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 1 (First Meeting of the International Forum on COVID-19 Vaccine Cooperation) (ถ้อยแถลงร่วมฯ) [รองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวสนับสนุนในหลักการของถ้อยแถลงร่วมฯ ไปแล้ว ในการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยความร่วมมือด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครั้งที่ 1 (การประชุมฯ) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล] ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. การประชุมฯ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 เวลา 19.00 นาฬิกา ตามเวลาประเทศไทย ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) เป็นประธานและมีผู้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ 23 ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งการประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการผลิตวัคซีนและความร่วมมือด้านเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้วัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้และมีราคาที่จัดหาได้มากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา และเพื่อระดมความเห็นเพื่อสนับสนุนประชาคมโลกในการเอาชนะโควิด-19 โดยสาระสำคัญของการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้
1.1 จีนจะจัดหาวัคซีนให้กับประชาคมโลกจำนวน 2 พันล้านโดส ภายในปี 2564 และจะให้เงินสนับสนุนจำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่กลไก COVAX Facility เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนที่เท่าเทียม นอกจากนี้ จีนสนับสนุนให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะของโลก และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านวัคชีนป้องกันโควิด-19
1.2 รองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในนามผู้แทนประเทศไทย โดยสนับสนุนให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นสิ่งจำเป็นทางมนุษยธรรมและเรียกร้องให้ประเทศที่มีวัคซีนส่วนเกินสนับสนุนวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านกรอบทวิภาคีและพหุภาคี เช่น กลไก COVAX Facility นอกจากนี้นานาชาติและบริษัทผลิตวัคซีน รวมถึงสถาบันการเงิน ควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อเพิ่มอุปทานวัคซีนของโลก และเสนอแนะให้นานาชาติพิจารณาแนวทางการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับโรคระบาดในอนาคต
1.3 ที่ประชุมมีความเห็นพ้อง ดังนี้
(1) การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งท้าทายที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ทันกับการกลายพันธุ์ผ่านการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน
(2) สนับสนุนให้มีการหารือการยกเว้นสิทธิบัตรทางปัญญาของวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ภายต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) รวมถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ควรเป็นสินค้าสาธารณะของโลกที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและรายได้น้อย
(3) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อสู้และรับมือกับโควิด-19 และเรียกร้องการไม่เลือกปฏิบัติในการอนุมัติวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดต่างๆ สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งควรใช้มาตรฐานของ WHO เป็นหลัก
2. การรับรองถ้อยแถลงร่วมฯ ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อเน้นย้ำว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะของโลก และความสำคัญของแนวคิดวัคซีนพหุภาคีนิยม |
ข้อสนับสนุน/ส่งเสริม |
1. สนับสนุน WHO ในการผลักดันการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ได้แก่ (1) ข้อริเริ่ม ACT-Accelerator และ (2) กลไก COVAX Facility 2. ให้ประเทศผู้ผลิตวัคซีนที่มีศักยภาพให้การสนับสนุนวัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่กลไก COVAX Facility 3. เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศโดยการศึกษาวิจัย พัฒนา และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีร่วมกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนของประเทศกำลังพัฒนา 4. การมีส่วนร่วมของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเพิ่มกำลังการผลิตและจัดสรรวัคซีน ตลอดจนร่วมกันผลักดันการจัดสรรวัคซีนที่เป็นธรรมและสามารถจัดซื้อได้ทันต่อสถานการณ์ |
ข้อเรียกร้อง |
1. ให้ทุกประเทศร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนตามมาตรฐานของ WHO 2. ให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อใช้ในการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 3. ให้มีการส่งเสริมกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศและการทำงานร่วมกันในการปฏิเสธวัคซีนชาตินิยม และยกเลิกมาตรการจำกัดการส่งออกวัคซีนและส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง 4. ให้ประเทศต่างๆ ให้การสนับสนุนการยกเว้นการปฏิบัติตามพันธกรณีของข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในกรอบ WTO 5. ให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่กำลังพิจารณาผ่อนคลายกฎระเบียบในการอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ ปฏิบัติตามหลักของความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และการไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งข้อเสนอแนะของ WHO ที่อยู่บนหลักของวิทยาศาสตร์และความสำคัญของการขึ้นทะเบียนการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบฉุกเฉิน |
ทั้งนี้ กต. (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) เห็นว่า ถ้อยแถลงร่วมฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรการ 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12159