ผลการประชุมความร่วมมือระดับสูงระหว่างไทย-มณฑลกวางตุ้ง ครั้งที่ 1
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 10 December 2021 11:58
- Hits: 3847
ผลการประชุมความร่วมมือระดับสูงระหว่างไทย-มณฑลกวางตุ้ง ครั้งที่ 1
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอผลการประชุมความร่วมมือระดับสูงระหว่างไทย-มณฑลกวางตุ้ง ครั้งที่ 1 และมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งรัดปฏิบัติตาม ผลการประชุมฯ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้เป็นประธานการประชุมฯ ร่วมกับผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง (นายหม่า ซิงรุ่ย) ซึ่งฝ่ายกวางตุ้งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้แทนระดับสูงและผู้แทนจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าร่วมประชุมด้วย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการประชุมฯ
1.1 ที่ประชุมฯ ได้หารือในเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ (1) นโยบายและทิศทางความร่วมมือระหว่างไทยกับมณฑลกวางตุ้ง (2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกันเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (3) สาขาความร่วมมือและประเด็นเร่งด่วนที่ควรดำเนินการให้เป็นรูปธรรม (4) การแนะนำศักยภาพของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area: GBA) และ (5) การจัดตั้งกลไกการติดตามผลการประชุมฯ
1.2 ฝ่ายไทยมีข้อเสนอในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) การดำเนินนโยบาย 4 เชื่อม เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในเชิงลึกระหว่างกัน ได้แก่ (1) ด้านนโยบาย เช่น การส่งเสริมความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ระหว่าง GBA และ EEC (2) ด้านกายภาพ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ (3) ด้านกฎระเบียบ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี และ (4) ด้านประชาชน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ฝ่าย
2) การติดตามผล 4 ช่องทาง ได้แก่ (1) การจัดทำแผนการเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน (2) การจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจและจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการของแต่ละฝ่ายในสาขาความร่วมมือที่กำหนด (3) การให้คู่เมืองพี่เมืองน้องของทั้ง 2 ฝ่ายจัดทำแผนกิจกรรมที่จะดำเนินการในระยะต่อไป และ (4) การขับเคลื่อนประเด็นเร่งด่วน เช่น การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตในสาขาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานทางเลือก การพัฒนาศักยภาพและเครือข่ายของผู้ประกอบการ และการประยุกต์ใช้ 5G ในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม
3) การผลักดันความร่วมมือใน EEC ที่กวางตุ้งมีศักยภาพ ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะ (2) อุตสาหกรรมดิจิทัล (3) อุตสาหกรรมและบริการด้านสุขภาพ (4) เมืองอัจฉริยะ และ (5) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
4) การส่งเสริมการค้าในรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างกัน
1.3 ฝ่ายกวางตุ้งมีข้อเสนอในประเด็นต่างๆ ดังนี้ (1) การเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม เช่น สารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสีเขียว ชีวการแพทย์และเมืองอัจฉริยะ (2) การส่งเสริมการค้าและการลงทุนผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (3) การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการใช้ประโยชน์จากกรอบเมืองพี่เมืองน้องมากยิ่งขึ้น (4) การพัฒนากลไกความร่วมมือให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และ (5) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันด้านเทคโนโลยีชีวการแพทย์ เมืองอัจฉริยะ การประยุกต์ใช้ 5G และปัญญาประดิษฐ์
2. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลการประชุมฯ มีนัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของส่วนราชการต่างๆ เช่น การจัดทำแผนการเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน การจัดทำแผนกิจกรรมของแต่ละคู่ความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง การสนับสนุนความร่วมมือด้านพลังงาน และการส่งเสริมการค้าในรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน จึงมีประเด็นที่ต้องมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ยและนวัตกรรม (อว) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงพพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12158