ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 11
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 10 December 2021 11:55
- Hits: 2934
ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 11
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ครั้งที่ 11 และมอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามผลการประชุมฯ ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า รองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมฯ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการประชุมฯ
1.1 ที่ประชุมฯ ชื่นชมพัฒนาการของกรอบความร่วมมือฯ ที่ก้าวหน้า โดยมีการยกระดับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือฯ ครั้งที่ 2 ในปี 2563 โดยเกาหลีใต้ย้ำความสำคัญของกรอบความร่วมมือฯ ต่อการดำเนินนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัสและบทบาทของเกาหลีใต้ในการเป็นหุ้นส่วนที่น่าเชื่อถือสำหรับประเทศลุ่มน้ำโขงในสาขาความร่วมมือต่างๆ ซึ่งประเทศลุ่มน้ำโขงขอบคุณเกาหลีใต้ที่มีบทบาทด้านการพัฒนาที่สร้างสรรค์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะการเพิ่มเงินสนับสนุนกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลีใด้ (Mekong-Republic of Korea Cooperation Fund: MKCF) สำหรับปี 2564 จำนวน 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
1.2 ที่ประชุมฯ หารือเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือในอนาคต ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
1. ด้านสาธารณสุข |
1.1 ประเทศลุ่มน้ำโขงเสนอให้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ การวิจัยและพัฒนา การผลิต และการกระจายวัคซีน โดยไทยได้ยกตัวอย่างความร่วมมือไตรภาคีเพื่อยกระดับความสามารถของบุคลากรและระบบสาธารณสุขของประเทศลุ่มน้ำโขง ภายใต้กลไกความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กต. กับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศเกาหลีใต้ 1.2 ไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) และราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) ได้แสดงความยินดีต่อการประกาศตัวเป็น global vaccine hub ของเกาหลีใต้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของความร่วมมือสาขาดังกล่าวในอนุภูมิภาคฯ |
|
2. การฟื้นฟูหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) |
2.1 ประเทศลุ่มน้ำโขงเสนอให้ส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่างๆ ได้แก่ (1) ความเชื่อมโยงทางกายภาพและดิจิทัล (2) การส่งเสริมบทบาทและการให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม และ (3) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะด้านดิจิทัล 2.2 ไทย เกาหลีใต้ และกัมพูชา เสนอให้มีการอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และการเดินทาง โดยเกาหลีใต้ได้ชื่นชมโครงการ Phuket Sandbox ของไทยว่า เป็นตัวอย่างของข้อริเริ่มที่ดี และไทยเสนอให้มีการกำหนดช่องทางพิเศษสำหรับการเดินทางของนักธุรกิจ เพื่อเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของประเทศลุ่มน้ำโขงกับเกาหลีใต้ |
|
3. การบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืนและความยืดหยุ่นด้านสิ่งแวดล้อม |
เวียดนามเสนอความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพการแบ่งปันข้อมูลที่โปร่งใส และระบบการเตือนภัยล่วงหน้า รวมทั้งบทบาทด้านการวิจัยของศูนย์ Korea-Mekong Water Resources Collaboration Research Center และการทำงานร่วมกันกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง |
|
4. การแลกเปลี่ยนระดับประชาชน |
ไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ลาว) เห็นพ้องต่อข้อเสนอของเกาหลีใต้ในการขยายระยะเวลาปีแห่งการแลกเปลี่ยนลุ่มน้ำโขง-เกาหลีใต้ ค.ศ. 2021 ออกไปจนถึงปี 2565 โดยไทยได้เสนอให้มีการจัดทำแผนการดำเนินกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม โดยเน้นการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนและนักเรียน/นักศึกษาของประเทศลุ่มน้ำโขงและเกาหลีใต้ |
|
5. การสอดประสานระหว่างกรอบความร่วมมือ/นโยบายต่างๆ |
ไทยและลาวเสนอให้มีการสอดประสานระหว่างกรอบความร่วมมือฯ กับกรอบความร่วมมืออื่นๆ ในอนุภูมิภาคฯ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง นอกจากนี้ไทยยั่งเน้นการสอดประสานระหว่างนโยบายเศรษกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียวของไทยกับนโยบาย Green New Deal และ Digital New Deal ของเกาหลีใต้ |
1.3 ที่ประชุมฯ หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค ดังนี้
(1) สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี โดยเกาหลีใต้ขอบคุณประเทศลุ่มน้ำโขงสำหรับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี และย้ำความพยายามในการสนับสนุนกลไก Inter-Korean Dialogue ซึ่งกัมพูชาและลาวย้ำความสำคัญของการทูตและการเจรจาเพื่อบรรลุการขจัดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์
(2) สถานการณ์ในเมียนมา โดยเกาหลีใต้ กัมพูชา และลาวสนับสนุนบทบาทของผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนและการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเชียน ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในเมียนมาให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว โดยเกาหลีใต้ย้ำการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของเกาหลีใต้แก่เมียนมา
(3) สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ โดยเกาหลีใต้ย้ำความสำคัญของเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้และหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับสากล รวมทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 และหวังจะเห็นความคืบหน้าที่สร้างสรรค์ของแนวปฏิบัติ
1.4 ที่ประชุมฯ ได้รับรองถ้อยแถลงของประธานร่วมการประชุมฯ โดยมีการเพิ่มรายละเอียดโครงการภายใต้กองทุน MKCF ครั้งที่ 5 ประจำปี 2564 จำนวน 7 โครงการ และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มเติมของเกาหลีใต้แก่เมียนมาในการรับมือกับโรคโควิด-19 ทั้งนี้ สาระสำคัญของเอกสารไม่แตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไว้แล้ว
1.5 กต. มีข้อสังเกตและข้อสนเทศเพิ่มเติม ว่า บรรยากาศการประชุมฯ เป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นมิตร ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นของเกาหลีใต้ในการรักษาบทบาทหุ้นส่วน เพื่อการพัฒนาที่สร้างสรรค์ของ อนุภูมิภาคฯ บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังได้เสนอให้มีกิจกรรมใหม่ที่เน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนภายใต้ปีแห่งการแลกเปลี่ยนลุ่มน้ำโขง-เกาหลีใต้ ค.ศ. 2021 เพื่อขับเคลื่อนกรอบความร่วมมือฯ ในเชิงรุก
2. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลการประชุมฯ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของกรอบความร่วมมือฯ ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของส่วนราชการต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยนระดับประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนและนักเรียน/นักศึกษาของประเทศลุ่มน้ำโขงและเกาหลีใต้ การเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะด้านดิจิทัล การยอมรับเอกสารการเดินทางซึ่งกันและกัน และการแบ่งปันข้อมูลด้านการบริหารจัดการน้ำที่โปร่งใส จึงมีประเด็นที่ต้องมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) และสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12157