ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 06 December 2021 11:34
- Hits: 7641
ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 บัญญัติให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงควบคุม กำกัด หรือห้ามการปฏิบัติกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินหรือการอื่นซึ่งมีเงินตราต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าในรูปใด และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงฯ ประกอบกับมาตรา 9 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
2. โดยที่ปัจจุบันมีรูปแบบการให้บริการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของการประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้นหลายช่องทาง ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพของการประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศของประเทศไทย รวมทั้งเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับการขึ้นทะเบียนให้หลากหลายและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น กค. พิจารณาแล้วจึงได้ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ขึ้น
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2497) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พุทธศักราช 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
1. ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของบุคคลรับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ |
ปัจจุบันบุคคลรับอนุญาตสามารถให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้เฉพาะธนบัตรเงินตราต่างประเทศ แก้ไขเพิ่มเติมให้สามารถบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ธนบัตรเงินตราต่างประเทศได้ (เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถชำระเงินค่าซื้อธนบัตรเงินบาทด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่ออกโดยธนาคารในต่างประเทศแทนการใช้เงินสดสกุลเงินตราต่างประเทศได้) |
|
2. เพิ่มประเภทการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ |
ปัจจุบันการประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศมีเฉพาะรูปแบบการให้ใบอนุญาต (License) เท่านั้น แก้ไขเพิ่มเติมให้การประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศสามารถประกอบธุรกิจในรูปแบบการขึ้นทะเบียน (Register) ได้ |
|
3. ขยายขอบเขตของการให้ใบอนุญาตและใบขึ้นทะเบียน |
ปัจจุบันใบอนุญาตสามารถใช้ได้กับสถานประกอบการที่ยื่นขออนุญาต (One-to-One) เท่านั้น (หากมีหลายสาขาต้องขอใบอนุญาตทุกสาขา) แก้ไขเพิ่มเติมให้ใบอนุญาตที่ได้รับสามารถใช้ได้กับทั้งสำนักงานใหญ่ สาขา และช่องทางการให้บริการอื่น (One-to-Many) ได้ ส่วนกรณีใบขึ้นทะเบียนสามารถใช้ได้กับสำนักงานใหญ่ที่ยื่นขอขึ้นทะเบียน โดยหากจะใช้กับสาขาหรือช่องทางให้บริการอื่นผู้ประกอบการต้องขอขึ้นทะเบียนสาขาหรือช่องทางให้บริการอื่นนั้นด้วย |
|
4. ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับรายได้สกุลเงินตราต่างประเทศที่ได้รับมาจากต่างประเทศ (Repatriation) ทั้งรายได้ที่เป็นค่าของส่งออกและรายได้ประเภทอื่น |
- อนุญาตให้ผู้ส่งออกและบุคคลอื่นสามารถนำรายได้จากสกุลเงินตราต่างประเทศไปใช้ในการทำธุรกรรมประเภทอื่นได้ เช่น การชำระหนี้การค้า (ปัจจุบันอนุญาตเพียงการขายหรือฝากเงินตราต่างประเทศ) - อนุญาตให้ผู้ส่งออกและบุคคลอื่นสามารถนำรายได้สกุลเงินตราต่างประเทศไปขาย หรือใช้ทำธุรกรรมกับผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับการขึ้นทะเบียนได้ (ปัจจุบันอนุญาตเพียงการขายหรือฝากเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์) |
|
5. ปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ |
กำหนดให้ผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น (จากเดิมเป็นบุคคลธรรมดาได้) เพื่อเพิ่มการยอมรับและความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และได้กำหนดบทเฉพาะกาลไว้เพื่อให้บุคคลรับอนุญาตประเภทบุคคลธรรมดาสามารถประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศต่อไปได้อีก 3 ปีนับแต่วันที่ร่างกฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ |
|
6. เพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ผู้ซึ่งมีอำนาจในการจัดการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ |
โดยแก้ไขเพิ่มเติมให้กรรมการ ผู้ซึ่งมีอำนาจในการจัดการ และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับการขึ้นทะเบียน ต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจปัจจัยชำระเงินต่างประเทศโดยมิได้รับอนุญาตหรือได้รับการขึ้นทะเบียน (เพื่อให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) และมาตรฐานสากลที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการก่อการร้าย) |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11946