WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ขอความเห็นชอบโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส

GOV10

ขอความเห็นชอบโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติในหลักการโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส (โครงการอาชีวะฯ) จำนวน 30 แห่ง ระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ .. 2566 - 2575 ในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 1,060.22 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าว เห็นควรให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ หากพิจารณาค่าใช้จ่ายตามกรอบวงเงินดังกล่าวจะพบว่ามีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอาคารเพื่อเป็นหอพัก ค่าก่อสร้างหอพัก ตลอดจนค่าตอบแทนครูดูแลหอพัก วงเงิน 371.42 ล้านบาท ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลอาคารภายหลังการปรับปรุงหรือก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงเห็นควรที่ สอศ. จะพิจารณาสถานศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวที่มีความพร้อมของสถานที่และบุคลากรครู โดยร่วมกับชุมชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อลดภาระงบประมาณในระยะยาว และเพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการอาชีวะฯ เห็นควรให้ สอศ. ติดตามผลการดำเนินงานและประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการทุกปีศึกษา เพื่อนำผลการติดตามและประเมินผลดังกล่าวใช้เป็นแนวทางในการเสนอขอตั้งงบประมาณและการดำเนินโครงการในระยะต่อไปด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้กระทรวงศึกษาธิการ (สอศ.) รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

          สาระสำคัญของเรื่อง

          กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รายงานว่า

          1. ศธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินโครงการอาชีวะฯ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 โดยศึกษาแนวทางการดำเนินงานของโรงเรียนพระดาบส1 เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของโครงการ อาชีวะฯ และเริ่มดำเนินการนำร่องจัดการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพ ระยะเวลา 1 ปี ในสถานศึกษาของรัฐ จำนวน 12 แห่ง เช่น วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม จังหวัดราชบุรี วิทยาลัยการอาชีพเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น โดยดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ .. 2561 (ที่ผ่านมาเป็นการใช้งบประมาณของ สอศ. ในการดำเนินงาน) เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนชท และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษาหรือว่างงานเข้ารับการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ได้มีโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นคนที่มีทักษะวิชาชีพที่ได้มาตรฐาน และมีคุณธรรม จริยธรรมในการดำรงชีวิต โดยมีผลการดำเนินงานสรุปได้ ดังนี้

 

ปีงบประมาณ

..

จำนวน

สถานศึกษา

(แห่ง)

จำนวนผู้เรียน

(คน)

ภาวะผู้มีงานทำ

ศึกษาต่อ

(คน)

ทำงาน

(คน)

รายได้ต่อเดือน

(บาท)

2561

12

62

-

62

9,000 - 25,000

2562

12

137

4

133

6,000 - 18,000

2563*

12

173

-

-

-

 

หมายเหตุ: *ผู้เรียนรุ่นที่ 3 ในปีงบประมาณ .. 2563 จบการฝึกอบรมในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ทำให้ สอศ. ยังไม่สามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับภาวะผู้มีงานทำได้

 

          และจากผลการประเมินคุณภาพการดำเนินโครงการอาชีวะฯ โดยลงพื้นที่ประเมินระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 - มีนาคม 2564 ปรากฏว่าผ่านเกณฑ์ประเมินคุณภาพทั้ง 12 แห่ง ผู้สำเร็จการศึกษาผ่านการประเมินมาตรฐานอาชีพทุกคน และผู้สำเร็จการศึกษาได้กลับคืนถิ่นภูมิภาคของตน ร้อยละ 100

 

TU580x400

 

          2. จากผลสำเร็จในการดำเนินโครงการอาชีวะฯ จำนวน 3 รุ่นข้างต้น ประกอบกับมีสถานศึกษาให้ความสนใจและสมัครใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในพื้นที่บริการมีเด็ก เยาวชน และประชาชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาที่มีความประสงค์จะเข้ารับการฝึกอบรมในโครงการดังกล่าว ศธ. โดย สอศ. จึงได้จัดทำโครงการอาชีวะฯ ในสถานศึกษาภาครัฐให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 30 แห่ง (เดิม 12 แห่ง) โดยคัดเลือกสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการอาชีวะฯ เพิ่มเติม จำนวน 18 แห่งทั่วประเทศ ในครั้งนี้ ศธ. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการอาชีวะฯ จำนวน 30 แห่ง โดยมีสาระสำคัญของโครงการอาชีวะฯ สรุปได้ ดังนี้

 

หัวข้อ

รายละเอียด

วัตถุประสงค์

(1) สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนบท และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษาหรือว่างงาน ให้ได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาเป็นพิเศษ ได้มีทักษะวิชาชีพติดตัว สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพกำลังคน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนปลูกฝังค่านิยมในคุณธรรม จริยธรรม ให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ

(2) เพื่อขยายผลโครงการอาชีวะฯ ให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค

(3) เพื่อเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายวิชาชีพ และเป็นสถานศึกษาต้นแบบในการจัดการศึกษาวิชาชีพให้กับเด็กและเยาวชน ที่เน้นการฝึกทักษะวิชาชีพควบคู่ควบคู่กับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม

(4) เพื่อจัดการศึกษาด้านอาชีพให้แก่เยาวชนเพื่อให้สามารถกลับไปทำงานในท้องถิ่นภูมิภาคของตนเอง

ระยะเวลาดำเนินการ

10 ปี (.. 2566 - 2575)

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

สอศ.

เป้าหมาย

มีเด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนบท และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษาหรือว่างงานเข้ารับการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพ 1 ปี จำนวน 900 คน/ปี (รวม 9,000 คน ในระยะเวลา 10 ปี)

ตัวชี้วัดโครงการ

(1) ผู้สำเร็จการศึกษาผ่านการประเมินมาตรฐานอาชีพทุกคน

(2) ผู้สำเร็จการศึกษามีงานทำ ร้อยละ 100

(3) ผู้สำเร็จการศึกษามีรายได้เดือนละ 8,000 - 10,000 บาท

(4) ผู้สำเร็จการศึกษาได้กลับคืนถิ่นภูมิภาคของตนเอง ร้อยละ 100

(5) สถานศึกษาต้องผ่านการประเมินคุณภาพการจัดการเรียนการสอนจากมูลนิธิพระดาบส โดยโรงเรียนพระดาบส (ภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี)

แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ

(1) คัดเลือกสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการอาชีวะฯ เพิ่มเติม จำนวน 18 แห่งทั่วประเทศ โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกสถานศึกษา ดังนี้ (1.1) เป็นสถานศึกษาขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (1.2) สามารถให้บริการผู้เรียนที่ขาดโอกาสในพื้นที่ได้ (1.3) มีความพร้อมในการจัดการศึกษาอาชีวะ และ (1.4) ผู้บริหารสถานศึกษามีความสนใจ สมัครใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อโครงการอาชีวะฯ

(2) ประสานคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา รวมทั้งวางแผนการจัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการอาชีวะฯ

(3) จัดการศึกษาโดยเรียนฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย (เรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี)

(4) สถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการดำเนินการจัดฝึกอบรมให้กับผู้เรียน ระยะเวลา 1 ปี โดยใช้หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส ดังนี้

       (4.1) ระยะเวลา 6 เดือนแรก จัดฝึกทักษะช่างพื้นฐาน 11 ทักษะอาชีพ เช่น ทักษะช่างยนต์ ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างกลโรงงาน ช่างเขียนแบบ เป็นต้น

       (4.2) ระยะเวลา 3 เดือน ผู้เรียนเลือกทักษะที่สนใจ เพื่อฝึกเป็นทักษะเฉพาะทาง

       (4.3) ระยะเวลา 2 เดือน ผู้เรียนออกฝึกงานในสถานประกอบการ เพื่อฝึกทักษะอาชีพที่แท้จริง

       (4.4) ระยะเวลา 1 เดือน ผู้เรียนเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานหรือมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ

__________________________

1โรงเรียนพระดาบส ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือไม่มีวุฒิการศึกษาพื้นฐานพอที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับสูง ให้ได้มีวิชาชีพติดตัว หาเลี้ยงตนเองได้ เป็นพลเมืองดีของสังคมและประเทศชาติ โดยมีมูลนิธิพระดาบสกำกับดูแลการดำเนินงาน

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2564

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A11945

Click Donate Support Web

EXIM One 720x90 C J

GC 720x100TU720x100

 

 

sme 720x100

QIC 720x100

ais 720x100

เจนเนอราลี่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!