ขอความเห็นชอบโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 05 December 2021 23:34
- Hits: 10469
ขอความเห็นชอบโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติในหลักการโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส (โครงการอาชีวะฯ) จำนวน 30 แห่ง ระยะเวลาดำเนินโครงการ 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2575 ในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 1,060.22 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าว เห็นควรให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ หากพิจารณาค่าใช้จ่ายตามกรอบวงเงินดังกล่าวจะพบว่ามีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอาคารเพื่อเป็นหอพัก ค่าก่อสร้างหอพัก ตลอดจนค่าตอบแทนครูดูแลหอพัก วงเงิน 371.42 ล้านบาท ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลอาคารภายหลังการปรับปรุงหรือก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงเห็นควรที่ สอศ. จะพิจารณาสถานศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวที่มีความพร้อมของสถานที่และบุคลากรครู โดยร่วมกับชุมชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อลดภาระงบประมาณในระยะยาว และเพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการอาชีวะฯ เห็นควรให้ สอศ. ติดตามผลการดำเนินงานและประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการทุกปีศึกษา เพื่อนำผลการติดตามและประเมินผลดังกล่าวใช้เป็นแนวทางในการเสนอขอตั้งงบประมาณและการดำเนินโครงการในระยะต่อไปด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้กระทรวงศึกษาธิการ (สอศ.) รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รายงานว่า
1. ศธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินโครงการอาชีวะฯ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 โดยศึกษาแนวทางการดำเนินงานของโรงเรียนพระดาบส1 เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของโครงการ อาชีวะฯ และเริ่มดำเนินการนำร่องจัดการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพ ระยะเวลา 1 ปี ในสถานศึกษาของรัฐ จำนวน 12 แห่ง เช่น วิทยาลัยเทคนิคโพธาราม จังหวัดราชบุรี วิทยาลัยการอาชีพเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น โดยดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 (ที่ผ่านมาเป็นการใช้งบประมาณของ สอศ. ในการดำเนินงาน) เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนชท และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษาหรือว่างงานเข้ารับการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ได้มีโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นคนที่มีทักษะวิชาชีพที่ได้มาตรฐาน และมีคุณธรรม จริยธรรมในการดำรงชีวิต โดยมีผลการดำเนินงานสรุปได้ ดังนี้
ปีงบประมาณ พ.ศ. |
จำนวน สถานศึกษา (แห่ง) |
จำนวนผู้เรียน (คน) |
ภาวะผู้มีงานทำ |
||
ศึกษาต่อ (คน) |
ทำงาน (คน) |
รายได้ต่อเดือน (บาท) |
|||
2561 |
12 |
62 |
- |
62 |
9,000 - 25,000 |
2562 |
12 |
137 |
4 |
133 |
6,000 - 18,000 |
2563* |
12 |
173 |
- |
- |
- |
หมายเหตุ: *ผู้เรียนรุ่นที่ 3 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จบการฝึกอบรมในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ทำให้ สอศ. ยังไม่สามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับภาวะผู้มีงานทำได้
และจากผลการประเมินคุณภาพการดำเนินโครงการอาชีวะฯ โดยลงพื้นที่ประเมินระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 - มีนาคม 2564 ปรากฏว่าผ่านเกณฑ์ประเมินคุณภาพทั้ง 12 แห่ง ผู้สำเร็จการศึกษาผ่านการประเมินมาตรฐานอาชีพทุกคน และผู้สำเร็จการศึกษาได้กลับคืนถิ่นภูมิภาคของตน ร้อยละ 100
2. จากผลสำเร็จในการดำเนินโครงการอาชีวะฯ จำนวน 3 รุ่นข้างต้น ประกอบกับมีสถานศึกษาให้ความสนใจและสมัครใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในพื้นที่บริการมีเด็ก เยาวชน และประชาชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาที่มีความประสงค์จะเข้ารับการฝึกอบรมในโครงการดังกล่าว ศธ. โดย สอศ. จึงได้จัดทำโครงการอาชีวะฯ ในสถานศึกษาภาครัฐให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 30 แห่ง (เดิม 12 แห่ง) โดยคัดเลือกสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการอาชีวะฯ เพิ่มเติม จำนวน 18 แห่งทั่วประเทศ ในครั้งนี้ ศธ. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการอาชีวะฯ จำนวน 30 แห่ง โดยมีสาระสำคัญของโครงการอาชีวะฯ สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
วัตถุประสงค์ |
(1) สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนบท และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษาหรือว่างงาน ให้ได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาเป็นพิเศษ ได้มีทักษะวิชาชีพติดตัว สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพกำลังคน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนปลูกฝังค่านิยมในคุณธรรม จริยธรรม ให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ (2) เพื่อขยายผลโครงการอาชีวะฯ ให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค (3) เพื่อเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายวิชาชีพ และเป็นสถานศึกษาต้นแบบในการจัดการศึกษาวิชาชีพให้กับเด็กและเยาวชน ที่เน้นการฝึกทักษะวิชาชีพควบคู่ควบคู่กับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม (4) เพื่อจัดการศึกษาด้านอาชีพให้แก่เยาวชนเพื่อให้สามารถกลับไปทำงานในท้องถิ่นภูมิภาคของตนเอง |
ระยะเวลาดำเนินการ |
10 ปี (พ.ศ. 2566 - 2575) |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
สอศ. |
เป้าหมาย |
มีเด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนบท และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษาหรือว่างงานเข้ารับการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพ 1 ปี จำนวน 900 คน/ปี (รวม 9,000 คน ในระยะเวลา 10 ปี) |
ตัวชี้วัดโครงการ |
(1) ผู้สำเร็จการศึกษาผ่านการประเมินมาตรฐานอาชีพทุกคน (2) ผู้สำเร็จการศึกษามีงานทำ ร้อยละ 100 (3) ผู้สำเร็จการศึกษามีรายได้เดือนละ 8,000 - 10,000 บาท (4) ผู้สำเร็จการศึกษาได้กลับคืนถิ่นภูมิภาคของตนเอง ร้อยละ 100 (5) สถานศึกษาต้องผ่านการประเมินคุณภาพการจัดการเรียนการสอนจากมูลนิธิพระดาบส โดยโรงเรียนพระดาบส (ภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี) |
แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ |
(1) คัดเลือกสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการอาชีวะฯ เพิ่มเติม จำนวน 18 แห่งทั่วประเทศ โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกสถานศึกษา ดังนี้ (1.1) เป็นสถานศึกษาขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (1.2) สามารถให้บริการผู้เรียนที่ขาดโอกาสในพื้นที่ได้ (1.3) มีความพร้อมในการจัดการศึกษาอาชีวะ และ (1.4) ผู้บริหารสถานศึกษามีความสนใจ สมัครใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อโครงการอาชีวะฯ (2) ประสานคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา รวมทั้งวางแผนการจัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการอาชีวะฯ (3) จัดการศึกษาโดยเรียนฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย (เรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี) (4) สถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการดำเนินการจัดฝึกอบรมให้กับผู้เรียน ระยะเวลา 1 ปี โดยใช้หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส ดังนี้ (4.1) ระยะเวลา 6 เดือนแรก จัดฝึกทักษะช่างพื้นฐาน 11 ทักษะอาชีพ เช่น ทักษะช่างยนต์ ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างกลโรงงาน ช่างเขียนแบบ เป็นต้น (4.2) ระยะเวลา 3 เดือน ผู้เรียนเลือกทักษะที่สนใจ เพื่อฝึกเป็นทักษะเฉพาะทาง (4.3) ระยะเวลา 2 เดือน ผู้เรียนออกฝึกงานในสถานประกอบการ เพื่อฝึกทักษะอาชีพที่แท้จริง (4.4) ระยะเวลา 1 เดือน ผู้เรียนเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานหรือมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ |
__________________________
1โรงเรียนพระดาบส ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือไม่มีวุฒิการศึกษาพื้นฐานพอที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับสูง ให้ได้มีวิชาชีพติดตัว หาเลี้ยงตนเองได้ เป็นพลเมืองดีของสังคมและประเทศชาติ โดยมีมูลนิธิพระดาบสกำกับดูแลการดำเนินงาน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11945