ขอขยายกลุ่มเป้าหมายในการรับรองหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 05 December 2021 22:50
- Hits: 9268
ขอขยายกลุ่มเป้าหมายในการรับรองหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ มอบหมายให้ ดศ. โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) รับผิดชอบดำเนินการรับรองหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในข้าราชการและบุคลากรของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 เรื่อง ร่างแนวทางการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล สำหรับข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ 6 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการกอง ผู้ทำงานนโยบายและวิชาการ ผู้ทำงานด้านบริการ ผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยี และผู้ปฏิบัติงานอื่นๆ ทั้งนี้ ตามมติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 และให้ ดศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ดศ. รายงานว่า คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบให้นำหลักเกณฑ์การรับรองหลักสูตรและการจัดการศึกษาที่ใช้รับรองหลักสูตร GCIO และผู้ช่วย GCIO ไปใช้ในการรับรองหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในข้าราชการและบุคลากรของรัฐให้ครอบคลุมทั้ง 6 กลุ่ม โดยให้ สดช. รับผิดชอบดำเนินการรับรองหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในข้าราชการและบุคลากรของรัฐ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
รายการ |
สาระสำคัญ |
|
ภาพรวมการรับรองหลักสูตรและการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล |
||
วัตถุประสงค์/ เป้าหมายหลักสูตร |
สดช. จะกำหนดให้มีความสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ ทิศทางการพัฒนาประเทศ และการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับอนาคต (สดช. แจ้งว่า สำหรับหลักสูตรพื้นฐานจะใช้วัตถุประสงค์และเป้าหมายในลักษณะเดียวกันกับหลักสูตรสำหรับ GCIO และผู้ช่วย GCIO ตามที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด) |
|
การเตรียมการ |
สถาบันอบรมเป็นผู้ออกแบบและจัดทำหลักสูตร ในรูปแบบหลักสูตรที่มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์/เป้าหมายที่ สดช. กำหนด เพื่อยื่นขอรับรองโดย สดช. จะจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติ ที่ระบุรายละเอียดหลักเกณฑ์ กลไก และการประเมินผลการรับรองมาตรฐานหลักสูตรฯ และเนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สถาบันอบรมที่สนใจนำไปใช้ประกอบการออกแบบหลักสูตร |
|
ขั้นตอนการรับรอง |
มี 5 ขั้นตอน ดังนี้ (1) สถาบันอบรมยื่นคำขอรับการประเมิน โดยมีแบบฟอร์ม หลักฐานประกอบตามที่ สดช. กำหนด (2) สดช. ตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารและหลักฐานประกอบที่สถาบันอบรมยื่นคำขอ (ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์) (3) ผู้เชี่ยวชาญที่ สดช. คัดเลือกว่ามีความรู้ความชำนาญตรงกับหลักสูตร จำนวน 1 - 5 คน ตรวจประเมินเพื่อรับรองหลักสูตรและการจัดอบรม ตามแนวปฏิบัติ หลักเกณฑ์ที่ สดช. กำหนด (ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์) (4) ผลประเมินของผู้เชี่ยวชาญ [ในข้อ (3)] จะถูกส่งให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประชุมสรุปผลเพื่อการตัดสิน (ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์) (5) สดช. แจ้งผลการตัดสิน ให้สถาบันอบรมทราบโดยใช้เวลาในการจัดทำหนังสือแจ้งผลการตัดสิน (ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์) |
|
กรอบแนวคิดในการรับรองหลักสูตรและการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล |
||
หลักสูตรที่เสนอขอรับรอง |
สถาบันการศึกษาหรือสถาบันอบรมเอกชนสามารถนำเสนอได้ 3 รูปแบบ ดังนี้ (1) หลักสูตรพื้นฐาน จะต้องมีความสอดคล้องกับกลุ่มของบุคลากรที่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด โดยอาจแบ่งได้ตามบทบาท ระดับความพร้อม และวุฒิภาวะขององค์กร ซึ่งหลักสูตรนี้จะต้องมีเนื้อหาที่ครอบคลุมทั้งหน่วยความสามารถ หน่วยความรู้ (ทั้งพื้นฐานและที่จำเป็น) อย่างครบถ้วนตามที่กำหนด (2) หลักสูตรเฉพาะเรื่อง จะต้องมีความสอดคล้องกับหน่วยความสามารถอย่างน้อยหนึ่งหน่วยความสามารถตามที่กำหนด โดยอาจมีความสอดคล้องกับหน่วยความสามารถได้มากกว่าหนึ่งกลุ่มและยังต้องมีองค์ประกอบของหน่วยความสามารถที่ระบุนั้นครบตามกำหนด และต้องประกอบกับหน่วยความรู้ที่มีความสอดคล้องกัน (3) หลักสูตรด้านดิจิทัลอื่นๆ จะต้องมีความยืดหยุ่นสูง เน้นเพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้กับหลักสูตรที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว หรือมีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อยเพื่อให้สอดคล้องกับบางส่วนที่สำคัญของเกณฑ์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาหน่วยงานของตนเองได้ โดยหลักสูตรฯ แบบนี้จะสอดคล้องกับเกณฑ์ฯ เพียงบางส่วนเท่านั้น และอาจมีการข้ามเทียบกันในหลายหน่วยความสามารถ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจและการบูรณาการ ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้และเทียบหน่วยความรู้และความสามารถได้ • หลักสูตรที่ขอรับการประเมินต้องเป็นหลักสูตรที่มีเนื้อหาด้านดิจิทัลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ ต้องระบุผลลัพธ์การเรียนรู้ กระบวนการเรียนการสอน และวิธีการประเมินผลที่สำคัญอย่างชัดเจน และสอดคล้องกับเกณฑ์ที่ สดช. กำหนด ทั้งนี้ สถาบันอบรมต้องจัดให้มีการทดลองสอนจริงก่อนยื่นเสนอขอรับรองเพื่อนำข้อมูลผลการอบรม เช่น ผลการประเมินของผู้เข้ารับการอบรมและผลการประเมินการสอนมาประกอบการยื่นขอรับรองหลักสูตร |
|
คุณสมบัติของสถาบันอบรมที่สามารถจัดอบรมได้ |
สถาบันอบรมจะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการอบรม ตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตรการดำเนินการขออนุมัติจัดการอบรม จัดอบรม และประเมินการอบรม รวมทั้งการปรับปรุงหลักสูตร โดยสถาบันอบรมที่สามารถยื่นขอรับรองหลักสูตร ต้องเป็นสถาบันหรือหน่วยงานในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หรือกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) (2) หน่วยงานภาครัฐที่มีพันธกิจในการจัดอบรม หรือให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการอบรม เช่น สถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (3) สถาบันอบรมเอกชนที่ได้รับการรับรองจาก ศธ. (4) สถาบันที่ได้รับความเห็นชอบโดยสถาบันหรือหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย |
|
การประเมินหลักสูตร |
นำกรอบมาตรฐาน ISO 29993 : 20171 มาเป็นแนวทางที่ใช้อ้างอิงในกระบวนการการรับรองหลักสูตร เพื่อให้เป็นมาตรฐานที่ยอมรับ และหลักสูตรที่ได้รับการรับรองสามารถพัฒนาข้าราชการและบุคลากรภาครัฐได้จริง โดยกำหนดระยะเวลาหลักสูตรและการจัดการศึกษาที่ได้รับการรับรองให้มีอายุ 3 ปี และมีการแต่งตั้งและอบรมผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการประเมินและรับรองหลักสูตร ภายใต้เกณฑ์ แนวทาง และกรอบการพิจารณาที่ชัดเจนและเท่าเทียมกัน โดยผู้เชี่ยวชาญที่ทำการประเมินจะได้รับการฝึกอบรมก่อนทำการประเมินและรับรองหลักสูตร |
|
แนวทางปฏิบัติสำหรับสถาบันที่หลักสูตรได้รับการรับรอง |
- สถาบันจะต้องส่งรายงานผลการอบรมภายใน 30 วัน หลังเสร็จสิ้นการอบรมแต่ละครั้ง เพื่อเป็นการประกันคุณภาพในการจัดการอบรมและรายงานสรุปผลการอบรมรายปี - หลักสูตรที่ได้รับการรับรองจะมีอายุ 3 ปี ซึ่งเมื่อครบกำหนด 3 ปี ต้องมีการปรับปรุงหลักสูตร ให้มีความทันสมัยและยื่นเข้ามาเพื่อให้พิจารณาอีกครั้ง - ในกรณีที่มีการปรับปรุงหลักสูตรในสาระสำคัญ เช่น ชื่อหลักสูตร คุณสมบัติของผู้สอน ผลลัพธ์การเรียนรู้ กระบวนการการเรียนการสอนหรือการประเมินผลการอบรม เป็นต้น ก่อนรอบระยะเวลา 3 ปี ทางสถาบันอบรมต้องยื่นหลักสูตรที่มีการปรับปรุงมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการรับรองใหม่ |
1 เป็นข้อกำหนดสำหรับบริการด้านการเรียนรู้นอกเหนือจากการศึกษาอย่างเป็นทางการ รวมทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น การศึกษาด้านวิชาชีพ อาชีวศึกษา การฝึกอบรมภายในบริษัท และการฝึกอบรมโดยผู้ให้บริการการฝึกอบรม (Learning Service Provider: LSP) เป็นต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11942