สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 05 December 2021 22:42
- Hits: 9501
สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และแนวทางการบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และการประสานขอความร่วมมือส่วนราชการเพื่อสนับสนุนการดำเนินการในระยะต่อไป [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (29 พฤศจิกายน 2548) ที่รับทราบแนวทางการจัดระเบียบของระบบกระบวนการแก้ไขปัญหาตามข้อร้องเรียนของประชาชน และให้ สปน. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านการติดตามผลการดำเนินการ และสรุปรายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบทุก 3 เดือน] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนและการประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ สรุปได้ ดังนี้
1.1 สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
1.1.1 สถิติการแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชนที่ยื่นเรื่องผ่านช่องทางการร้องทุกข์ 1111 รวมทั้งสิ้น 25,322 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 22,726 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 89.75 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2,596 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 10.25
1.1.2 หน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้
(1) ส่วนราชการ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย ตามลำดับ
(2) รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ
(3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี และชลบุรี ตามลำดับ
1.2 การประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สรุปได้ ดังนี้
1.2.1 สถิติจำนวนเรื่องร้องทุกข์เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีจำนวนเรื่องร้องทุกข์ 25,322 เรื่อง ซึ่งน้อยกว่าจำนวนเรื่องร้องทุกข์ในปีงบประมาณที่ผ่านมา 7,557 เรื่อง
1.2.2 ประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ (1) การรักษาพยาบาล (2) ไฟฟ้า (3) การเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและโครงการของรัฐ (4) ค่าครองชีพ (5) การให้บริการโทรศัพท์ (6) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน (7) น้ำประปา (8) บ่อนการพนัน (9) ยาเสพติด และ (10) หนี้สินในระบบ ตามลำดับ
1.2.3 รายงานสรุปการสอบถามข้อมูล แจ้งเหตุ ร้องขอความช่วยเหลือและเสนอข้อคิดเห็น ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผ่านสายด่วน 1111 (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 30 มิถุนายน 2564) ดังนี้
หน่วย : เรื่อง
ลำดับที่ |
ประเภทเรื่อง |
จำนวน |
ดำเนินการ จนได้ข้อยุติ |
รอผลการพิจารณา |
1 |
การสอบถามข้อมูลและเสนอข้อคิดเห็น |
114,459 |
114,404 |
55 |
2 |
ขอความช่วยเหลือและแจ้งเหตุ |
4,905 |
4,394 |
511 |
รวมทั้งสิ้น |
119,364 |
118,798 |
566 |
1.2.4 การแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมายและการร้องเรียนซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านช่องทาง 1111 (ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564) ดังนี้
หน่วย : เรื่อง
ลำดับที่ |
ประเภทเรื่อง |
จำนวน |
ดำเนินการ จนได้ข้อยุติ |
รอผลการพิจารณา |
1 |
แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดกรณีบ่อนการพนัน |
678 |
524 |
154 |
2 |
แจ้งเบาะแสกรณีการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 |
400 |
216 |
184 |
3 |
แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดกรณีการเข้าเมืองผิดกฎหมาย |
54 |
43 |
11 |
รวม |
1,132 |
783 |
349 |
1.3 ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์
สปน. พบว่า ยังคงมีประชาชนร้องทุกข์เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับการพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่กำลังแพร่ระบาดในปัจจุบัน ทำให้ภาครัฐได้ประกาศมาตรการฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ยอดผู้ติดเชื้อยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง จึงส่งผลให้ประชาชนร้องทุกข์/เสนอข้อคิดเห็น และขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับประเด็นการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การตรวจสอบความโปร่งใสในการนำเข้าและจัดหาวัคซีน การบริหารจัดการสถานที่สำหรับรองรับผู้ป่วย และความล่าช้าในการติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วนของรัฐ
2. แนวทางการบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และการประสานขอความร่วมมือส่วนราชการเพื่อสนับสนุนการดำเนินการในระยะต่อไป ดังนี้
2.1 ขอให้ทุกส่วนราชการพิจารณาเพิ่มการสร้างพันธมิตรในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ร่วมกับภาคเอกชนและกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ เพื่อสนับสนุนในการให้ความช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศ
2.2 ขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาสำรวจความต้องการและความคาดหวังของผู้รับบริการ (ประชาชน) ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหรือปรับปรุงการให้บริการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ตลอดจนยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่องานบริการของภาครัฐอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการภาครัฐ
2.3 ขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาลดข้อจำกัดด้านกฎหมายหรือขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดและลดอัตราการเสียชีวิตให้ได้โดยเร็ว และสนับสนุนให้ใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดในการประสานแก้ไขสถานการณ์ในเชิงพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้อย่างเหมาะสม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11940