WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

มาตรการสินเชื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ

GOV 5

มาตรการสินเชื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการสินเชื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ (มาตรการฯ) และอนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 1,500 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อดำเนินมาตรการฯ พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการให้สามารถประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ กค. ธนาคารออมสินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการไปด้วย

          สาระสำคัญของเรื่อง

          กค. รายงานว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (โรคโควิด 19) ระลอกใหม่ ที่เริ่มคลี่คลายลงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมในเขตพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้เริ่มมีการเปิดสถานที่และการให้บริการของสถานบริการ รวมไปถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เริ่มกลับมาดำเนินได้ตามปกติ อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชน รวมถึงการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในหลายสาขาอาชีพ ทำให้มีรายได้ลดลง ประสบปัญหาด้านการเงินและมีความเสี่ยงในการชำระหนี้คืน ส่งผลให้ขาดเงินทุนสำหรับการเริ่มกลับมาประกอบอาชีพหรือเสริมสภาพคล่องสำหรับการดำเนินธุรกิจต่อไป ทำให้สถาบันการเงินยังไม่มั่นใจกับการปล่อยสินเชื่อให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ รวมทั้งมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเริ่มต้นในการประกอบอาชีพหรือเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ลดการพึ่งพาสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง หรือสินเชื่อนอกระบบ กค. จึงเสนอมาตรการฯ เพื่อบรรเทาและป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น โดยมีสาระสำคัญของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมาตรการฯ สรุปได้ ดังนี้

 

หลักเกณฑ์/เงื่อนไข

 

รายละเอียด

วัตถุประสงค์

 

เพื่อเป็นเงินทุนเริ่มต้นในการประกอบอาชีพหรือเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพและบรรเทาความเดือดร้อนจากการได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

กลุ่มเป้าหมาย

 

ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือ หรือมีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ ดังนี้

1) ผู้เริ่มประกอบอาชีพและผู้ประกอบการรายย่อย ประกอบด้วย ผู้ที่ผ่านการอบรมอาชีพช่างทุกประเภท เช่น ช่างปูน ช่างแอร์ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ช่างซ่อมอุปกรณ์ เป็นต้น และผู้ที่ไม่ใช่ช่าง เช่น ผู้ประกอบการเสริมสวยหรือตัดผม ผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น โดยมีใบประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรที่ผ่านการอบรมจากหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนหรือเอกสารอื่นๆ ตามประเภทของอาชีพ หรือมีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพดังกล่าวมาแล้ว

2) ผู้ประกอบการขนาดย่อม ประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่มีสถานที่จำหน่ายแน่นอน เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง โชห่วย แฟรนไชส์ เป็นต้น โดยมีทะเบียนพาณิชย์ ทะเบียนการค้า สัญญาแฟรนไชส์ หรือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของอื่นๆ

3) ผู้ขับขี่รถสาธารณะ ประกอบด้วย ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ รถตู้สาธารณะ รถขนส่งสินค้า รถบรรทุก โดยมีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ หรือเอกสารอื่นๆ ตามประเภทของอาชีพ

วงเงินรวม

 

5,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน)

วงเงินอนุมัติสินเชื่อ

 

ไม่เกิน 300,000 บาทต่อราย

ระยะเวลาโครงการ

 

1) ระยะเวลาการยื่นขอสินเชื่อ : ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 

2) ระยะเวลาการให้กู้ยืม : รวมทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 5 ปี (ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก) โดยธนาคารออมสินสามารถกำหนดระยะปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงหลักเกณฑ์เงื่อนไขเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม

อัตราดอกเบี้ย

 

ร้อยละ 3.99 ต่อปี (Effective Rate)

เงื่อนไขการชดเชยของรัฐบาล

 

รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non - Performing Loans : NPLs) ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ที่ไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,500 ล้านบาท (5,000 ล้านบาท * ร้อยละ 30 * ร้อยละ 100) โดยธนาคารออมสินจะทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมและความจำเป็นต่อไป

เงื่อนไขอื่นๆ

 

1) ธนาคารออมสินจะคืนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ธนาคารออมสินได้รับในรอบปีนั้น (12 งวด) สำหรับลูกค้าที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทและมีประวัติชำระหนี้ดีตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป

2) ธนาคารออมสินจัดให้มีการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงินและยกระดับทักษะในการประกอบอาชีพให้แก่ลูกค้า รวมถึงจัดหาอุปกรณ์การค้าและสถานที่จำหน่ายสินค้า เพื่อลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายการหาเลี้ยงชีพและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้า

3) แยกบัญชีโครงการเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA)

4) ไม่นับรวม NPLs ที่เกิดจากการดำเนินงานของมาตรการดังกล่าวในการกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของธนาคารออมสิน

ประโยชน์ที่จะได้รับ

 

คาดว่าจะช่วยเหลือประชาชนให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ประมาณ 60,000 ราย

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2564

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A11939

Click Donate Support Web

EXIM One 720x90 C J

GC 720x100TU720x100

 

 

sme 720x100

QIC 720x100

ais 720x100

เจนเนอราลี่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!