ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 15/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 05 December 2021 22:13
- Hits: 3660
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 15/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ดังนี้
1. อนุมัติให้กรมการจัดหางานปรับปรุงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs (โครงการส่งเสริมฯ) เพื่อให้การดำเนินโครงการส่งเสริมฯ บรรลุตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งธุรกิจ SMEs สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน (รง.) ดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องของทางราชการอย่างเคร่งครัด และเร่งดำเนินการการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
2. มอบหมายให้กรมสรรพากรพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับมาตรการภาษีที่กำหนดให้เงินอุดหนุนที่รัฐจ่ายให้นายจ้างจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วแต่กรณีตามขั้นตอนของกฎหมายและระบบที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. รับทราบกรอบการดำเนินการและคู่มือแนวปฏิบัติการเสนอโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ปี 2565 (โครงการเศรษฐกิจฐานราก ปี 2565) และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ในคู่มือแนวปฏิบัติการเสนอโครงการเศรษฐกิจฐานราก ปี 2565 รวมถึงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของทางราชการโดยเคร่งครัด
ทั้งนี้ มติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุม ครั้งที่ 15/2564 สรุปได้ ดังนี้
1. อนุมัติให้กรมการจัดหางานปรับปรุงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs (โครงการส่งเสริมฯ) เพื่อให้การดำเนินโครงการส่งเสริมฯ บรรลุตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งธุรกิจ SMEs สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
เงื่อนไข การจ่ายเงินอุดหนุน
1.1 ปรับเงื่อนไขการส่งข้อมูลเงินสมทบและการจ่ายเงินอุดหนุน นายจ้างที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการต้องลงทะเบียนนำส่งข้อมูลเงินสมทบ ผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยให้มีผลในงวดเงินสมทบเดือน พ.ย.64 เป็นต้นไป (นำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ภายในวันที่ 15 ธ.ค. 64)
วิธีดำเนินงาน
1.2 เพิ่มช่องทางการลงทะเบียน นายจ้างที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ สามารถลงทะเบียนโดยยื่นแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ พร้อมแนบหลักฐาน ณ สำนักงานจัดหางาน หรือหน่วยเคลื่อนที่ ของสำนักงานจัดหางาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลลงในระบบ แทนนายจ้าง (เดิมให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เท่านั้น)
1.3 ขยายระยะเวลาการลงทะเบียน ผู้ที่ลงทะเบียนรอบที่ 2 วันที่ 21 พ.ย. - 20 ธ.ค. 64 จะได้รับเงินอุดหนุนตามจำนวนการจ้างงาน ลูกจ้างสัญชาติไทยไม่เกิน 200 คน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (ธ.ค. 64 และ ม.ค. 65)
1.4 ปรับรูปแบบการจ่ายเงินอุดหนุน โดยเพิ่มกรณีหลังจากวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากพบว่า รัฐจ่ายเงินอุดหนุนยังไม่ครบถ้วนอีก ให้สามารถจ่ายเพิ่มเติมได้จนกว่าจะครบถ้วนตามสิทธิ์ที่นายจ้าง พึงจะได้รับ โดยงบฯ อยู่ภายใต้กรอบวงเงินที่ได้รับการจัดสรรเงินกู้ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 64
มาตรการทางภาษี
1.5 เงินอุดหนุนที่รัฐจ่ายให้นายจ้างจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วแต่กรณี โดยนายจ้างจะต้องไม่นำเงินอุดหนุนดังกล่าวไปคำนวณเป็นรายได้และรายจ่ายในการหักภาษี
ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว มอบหมายให้กระทรวงแรงงานดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องของทางราชการอย่างเคร่งครัด และเร่งดำเนินการการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
2. มอบหมายให้กรมสรรพากรพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับมาตรการภาษี ที่กำหนดให้เงินอุดหนุนที่รัฐจ่ายให้นายจ้างจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วแต่กรณีตามขั้นตอนของกฎหมายและระบบที่เกี่ยวข้องต่อไป (ตามข้อ 1.5)
3. เห็นชอบกรอบการดำเนินการและคู่มือแนวปฏิบัติการเสนอโครงการพัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ปี 2565 (โครงการเศรษฐกิจฐานราก ปี 2565) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
เป้าประสงค์ของโครงการ
- พัฒนาสินค้า ท่องเที่ยว บริการ และการค้า
- ยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร/อุตสาหกรรม
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการฟื้นตัวและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน
- เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกระจายประโยชน์ให้กับประชาชนในระดับพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน
ลักษณะ ข้อเสนอโครงการ
(1) ลักษณะที่พึงประสงค์ (DO) อาทิ สอดคล้องกับขอบเขตของโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ
(2) ลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ (DON’T) อาทิ ในพื้นที่ดำเนินการที่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ดำเนินการของโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไปแล้ว
ผู้เสนอโครงการ
(1) หน่วยงานของรัฐ (รวมถึง อปท. ในจังหวัด)
(2) กลุ่ม/องค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ อาทิ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน กลุ่มอาชีพ กลุ่มเปราะบาง
กรอบวงเงินของจังหวัด วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท โดยกรอบวงเงินดังกล่าว เป็นเพียงกรอบวงเงินสูงสุด (Ceiling) เพื่อให้จังหวัดใช้ในการจัดทำข้อเสนอโครงการสำหรับผลการพิจารณา และวงเงินที่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของข้อเสนอโครงการและความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนด
กลไกและกระบวนการในการขับเคลื่อน
กำหนดให้ใช้กลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยฯ เป็นผู้รับผิดชอบดำนินการ โดยมี รองนายกรัฐมนตรี กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยฯ และกำชับให้ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยฯ (ปลัดจังหวัดและหัวหน้าสำนักงานจังหวัด) เรียนเชิญสำนักงบประมาณเขตพื้นที่ 1 - 18 เข้าร่วมประชุมให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับความเหมาะสมของรายละเอียดงบประมาณด้วย
ระยะเวลาดำเนินการ พ.ย. 64 - ธ.ค. 65
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11937