ขอรับการสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2566 - 2570) ของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 05 December 2021 22:05
- Hits: 3231
ขอรับการสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2566 - 2570) ของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
คณะรัฐมนตรีมีมติดังนี้
1. รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 1 - 3 (พ.ศ. 2554 - 2564) และแผนปฏิบัติการด้านบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2566 - 2570) ของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ
2. เห็นชอบในหลักการสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2570) ของมูลนิธิฯ และสถาบันฯ ตามที่ สปน. เสนอ
ทั้งนี้ การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2570) รวมทั้งการใช้จ่ายงบประมาณ ให้มูลนิธิฯ และสถาบันฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ สาระสำคัญของเรื่อง
สปน. รายงานว่า
1. ผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 1 - 3 (พ.ศ. 2554 - 2564) สามารถขับเคลื่อนพันธกิจให้ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ รวมทั้งได้ให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคงเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) และนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
ด้าน |
ผลการดำเนินงาน |
1) เศรษฐกิจ |
พัฒนาระบบน้ำเพื่อการเกษตร 514,420 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์ 148,886 ครัวเรือน ก่อให้เกิดรายได้ต่อประชาชน 4,683 ล้านบาท |
2) สังคมและวัฒนธรรม |
พัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (Area Based) 9 จังหวัด และการขยายผลการพัฒนาในลักษณะ (Project Based) ไปยังพื้นที่ต่างๆ ส่งผลให้เกิดการบริหารจัดการโดยชุมชนในลักษณะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ 85 กลุ่ม มีแผนพัฒนาหมู่บ้านที่มีคุณภาพในหมู่บ้านที่มีสถานการณ์ยาเสพติดพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ 52 หมู่บ้าน นอกจากนี้ มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งและสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนใต้จากโครงการทุเรียนคุณภาพ |
3) สิ่งแวดล้อม |
มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 106,580 ไร่ ด้วยการลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และลดการเกิดไฟป่าในพื้นที่จังหวัดน่านได้ร้อยละ 99 ดำเนินการอนุรักษ์ป่าด้วยการสร้างฝายอนุรักษ์ในพื้นที่ต่างๆ 6,694 แห่ง พร้อมกับพัฒนาฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศและแผนที่ภาพถ่ายความละเอียดสูงโดยอากาศยานไร้คนขับ (จังหวัดอุทัยธานี) ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการประกอบอาชีพ และคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติมอบใบรับรองสิทธิ์ทำกินพื้นที่ 13,044 ไร่ |
4) องค์ความรู้ |
มีการสร้างหลักสูตร 11 หลักสูตร และครูภูมิปัญญา 115 คน รวมทั้งสามารถฝึกอบรมด้านการพัฒนาตามแนวพระราชดำริให้ผู้นำชุมชน นักศึกษา บุคลากรภาครัฐ 17,467 คน และนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนา |
นอกจากนี้ ได้ดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับสถานการณ์และสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 และโครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้ก้าวไปตามแนวพระราชดำริ ครอบคลุม 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุดรธานี น่าน อุทัยธานี เพชรบุรี ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งสิ้น 646 โครงการ และสามารถจ้างงานผู้ว่างงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวน 962 คน ประชาชนได้รับประโยชน์ 43,549 ครัวเรือน มีปริมาณน้ำกักเก็บ 122.2 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีพื้นที่รับประโยชน์ 204,218 ไร่
2. แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2566 - 2570) ของมูลนิธิฯ และสถาบันฯ
2.1 สืบเนื่องจากแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2564 - 2565) จะสิ้นสุดลงในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มูลนิธิฯ และสถาบันฯ จึงได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2566 - 2570) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งคณะกรรมการสถาบันฯ ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ได้เห็นชอบด้วยแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
1) วิสัยทัศน์ |
จัดการความรู้และนำแผนการพัฒนาไปขยายผลการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ ด้วยการบูรณาการกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน |
2) เป้าหมาย |
ขยายผลแบบแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้เกิดการดำเนินการในพื้นที่อื่นอย่างกว้างขวางภายใต้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่สอดคล้องกับสถานการณ์และสนับสนุนนโยบายรัฐบาล เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจสังคมระดับฐานราก |
3) ตัวชี้วัด |
3.1) มีการขยายผลแบบแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ไปดำเนินการในพื้นที่อื่น อย่างน้อย 5 พื้นที่ 3.2) มีการขยายผลการซ่อมแซมเสริมศักยภาพแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ที่มีปัญหาแล้งซ้ำซาก 625 โครงการ 3.3 มีหมู่บ้านในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ยาเสพติด 8 หมู่บ้าน และมีการประกอบสัมมาชีพพึ่งพาตนเองเป็นแหล่งเรียนรู้ในการป้องกันและเฝ้าระวังยาเสพติด 3.4) เกิดเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่โครงการเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทาง BCG ไม่น้อยกว่า 27 เครือข่าย 3.5) มีระบบข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การวิเคราะห์ตัดสินใจของผู้บริหารทันต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 5 ระบบ |
4) แนวทางการพัฒนา |
แนวทางที่ 1 การขยายผลการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน แนวทางที่ 2 การพัฒนาทางเลือกในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศในจังหวัดชายแดนภาคใต้และปัญหายาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคเหนือ แนวทางที่ 3 การพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็กเพื่อการเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้ว่างงานจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กลับภูมิลำเนา แนวทางที่ 4 การนำเกษตรอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ในทฤษฎีใหม่และสร้างชุมชนผู้ประกอบการเกษตร BCG แนวทางที่ 5 การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรปรับเปลี่ยนเป็นหน่วยงานที่มีสมรรถนะสูง |
5) ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ |
สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ในยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11936