ข้อเสนอเชิงนโยบายของที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ปี 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 05 December 2021 21:55
- Hits: 3370
ข้อเสนอเชิงนโยบายของที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ปี 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติดังนี้
1. รับทราบข้อเสนอเชิงนโยบายของที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ปี 2563 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้นำความเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ปี 2563 รวมทั้งความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไปประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญ
พม. ได้รายงานผลการประชุมในระดับชาติของสภาองค์การชุมชนตำบลประจำปี 2563 ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 โดยที่ประชุมได้พิจารณารับรองความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาจากสภาองค์กรชุมชนตำบล ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 32 (3) แห่งพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบาย จำนวน 4 ประเด็น
โดยในส่วนของประเด็นข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาใน 4 ประเด็นสำคัญ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการตามนัยมาตรา 32 (3) ของพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำความเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลไปประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาต่อไปนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการในเรื่องต่างๆ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็นปัญหา/ข้อเสนอแนะ/ หน่วยงานรับผิดชอบ |
การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น |
|
1. โครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” จังหวัดสงขลา [ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)] |
||
• รัฐบาลและ ศอ.บต. ได้ดำเนินการอย่างรวบรัดขั้นตอนขาดการจัดการศึกษาผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และรับฟังความคิดเห็นก่อนอนุมัติโครงการ แต่เป็นการชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นภายหลังจากการอนุมัติโครงการ • ข้อเสนอแนะ : 1) ให้ทบทวนโครงการนี้ โดยต้องยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และวันที่ 21 มกราคม 2563 2) ขอให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อเป็นข้อมูลกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะกำหนดโครงการใดๆ ขึ้นในพื้นที่ |
- ศอ.บต. ได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชน พ.ศ. 2548 แล้ว และ ศอ.บต. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เช่น การจัดทำแผนแม่บทเชิงพื้นที่ การศึกษาความเชื่อมโยง เส้นทางการคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา การปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น - สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อนำความคิดเห็นของประชาชน กลุ่มหรือองค์กรที่อยู่ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ต่อการดำเนินการขยายผลโครงการดังกล่าว เพื่อนำข้อเสนอของประชาชนไปสู่การจัดทำเป็นธรรมนูญระดับตำบลให้มีความสมบูรณ์ พร้อมกำหนดขั้นตอนการดำเนินการ และการผลักดันให้มีสถานะทางกฎหมายสำหรับการบังคับใช้ |
|
2. การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี [กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)] และกระทรวงมหาดไทย (มท.)] |
||
• มีการบุกรุกพื้นที่สาธารณะทางทะเลกว่า 2 แสนไร่ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและสร้างความขัดแย้งต่อประชาชนมาอย่างต่อเนื่องโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้มีประกาศจังหวัดให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง อาคาร (ขนำเฝ้าหอยและโฮมสเตย์) หรือสิ่งใดๆ ที่ได้ก่อสร้าง หรือติดตั้งในบริเวณดังกล่าวภายในระยะเวลา 60 วัน แต่มีผู้ประกอบการบางแห่งเพิกเฉยต่อคำสั่งและมีแนวโน้มจะไม่ดำเนินการคืนพื้นที่ตามคำสั่ง • ข้อเสนอแนะ : 1) จัดให้มีนโยบายการมีส่วนร่วมเพื่อบูรณาการการจัดการพื้นที่อ่าวบ้านดอนอย่างสมดุลและเป็นธรรม และคุ้มครองสิทธิชาวประมงพื้นบ้าน รวมถึงการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะทางทะเลอย่างเป็นองค์รวมบนฐานความยั่งยืนทางนิเวศ ตามกรอบข้อตกลงสากลองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ 2) จัดตั้งคณะทำงาน ประกอบ ด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการแต่งตั้งในระดับชาติ และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลในทุกด้าน รวมทั้งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันในการจัดการปัญหาแบบบูรณาการในพื้นที่ |
- กษ. (กรมประมง) ได้ร่วมบูรณาการการปฏิบัติงาน เพื่อขับเคลื่อนกลไกการบริหารจัดการทั้งด้านการทำประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ภายใต้แนวทางการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและหลักการป้องกันล่วงหน้า เพื่อรักษาหรือฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ |
|
3. เขตพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา [กระทรวงคมนาคม (คค.)] |
||
• เนื่องจากช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ และชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น เป็นพื้นที่ที่คนจนเมืองหลายครัวเรือนอาศัยอยู่ในเขตริมทางรถไฟและได้รับผลกระทบจากการที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ขอพื้นที่ริมทางรถไฟ จำนวน 20 เมตร โดยวัดจากกึ่งกลางของรางรถไฟ (ตามกฎหมายเป็นเอกสิทธิ์ของ รฟท.) และพื้นที่ดังกล่าวจะถูกรื้อถอน ส่งผลให้ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณริมรางรถไฟต้องย้ายออกไป • ข้อเสนอแนะ : 1) จัดกลไกการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมในกรณีการโยกย้าย และชดเชยทรัพย์สินแก่ผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่อาศัยในเขตแนวเส้นทางรถไฟและเวนคืนที่ดินนอกเขตทางรถไฟ รวมถึงผู้ถูกอพยพและการรื้อย้ายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ 2) จัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เพื่อก่อให้เกิดการค้าขาย กระจายสินค้า และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน 3) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คค. พม. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกันในการวางแผนและออกแบบการพัฒนาเมืองที่ดี ตลอดจนการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน |
คค. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร) ได้ดำเนินโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง (Transit Oriented Development : TOD) ซึ่งหากนำแนวคิด TOD มาใช้ขับเคลื่อนจะช่วยขจัดปัญหาการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ทิศทาง (Urban Sprawl)และเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินและบริเวณโดยรอบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สร้างแหล่งงานในพื้นที่ ลดการเดินทาง ลดปัญหาชุมชนแออัด เกิดการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น |
|
4. ผลกระทบจากโรงงานประกอบกิจการขยะ 5 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว [กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มท. และกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)] |
||
• เกิดปัญหาขยะพิษที่ส่งผลกระทบกับชุมชน และโรงงานบำบัดกำจัดกากของเสียมีจำนวนไม่เพียงพอกับโรงงานที่เป็นผู้ก่อกำเนิดขยะซึ่งมีจำนวนมากกว่า โดยคิดเป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 40 • ข้อเสนอแนะ : 1) มอบหมายให้มีหน่วยงานกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมเฉพาะที่แยกจาก อก. (กรมโรงงานอุตสาหกรรม) และมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลตามกฎหมาย 2) กำหนดนโยบายการใช้เทคโนโลยี มาจัดการขยะพิษ การควบคุมมลพิษ และการแก้ปัญหาการจัดการขยะพิษอย่างเข้มงวด โดยให้มีกระบวนการตรวจสอบ เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส 3) กำหนดนโยบายห้ามนำเข้าขยะทุกประเภทจากต่างประเทศ |
- อก. ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาทั้งในระดับสากลและวาระแห่งชาติ เรื่อง BCG Economy Model เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนมุ่งสร้างมูลค่าสูงสุดจากทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่กับการลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ (Zero Waste) เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดของเสีย และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ - การนำของเสียจากต่างประเทศเข้ามารีไซเคิลภายในประเทศจะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและจะต้องปฏิบัติตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรมและ อก. มีนโยบายให้ใช้ของเสียที่มีอยู่ในประเทศก่อน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11935