ประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 05 December 2021 21:46
- Hits: 3606
ประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้จัดทำเป็นประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เพื่อให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนการตรวจสอบและแผนการปฏิบัติราชการ โดยให้ความสำคัญกับการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อส่งเสริมให้หน่วยรับตรวจปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 การแก้ไขปัญหา เยียวยา และพื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตลอดจนพัฒนา สตง.ให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและในระดับสากล เป็นองค์กรภาครัฐยุคดิจิทัลที่ทันสมัย สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคระบาด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่อันจะส่งผลให้การตรวจเงินแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ทิศทางและเป้าหมายในการตรวจเงินแผ่นดิน
1.1 การตรวจเงินแผ่นดินต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลมาตรฐานทางจริยธรรม และหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้การบริหารการเงินการคลังเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ คุ้มค่า เกิดผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ โดยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบในเรื่องต่างๆ เช่น
1) การส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐจัดทำรายงานการเงินให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
2) การใช้จ่ายเงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ที่ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน ประกอบด้วย เงินกู้ เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินนอกงบประมาณ และเงินงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยตรวจสอบให้ครอบคลุมการดำเนินการในด้านต่างๆ เช่น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข การจัดหาและการบริหารวัคซีนป้องกันโรค การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข และการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล
3) การใช้จ่ายเงินตามแผนงานหรือโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ
1.2 การยกระดับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะการเป็นองค์กรตรวจเงินแผ่นดินที่มีบทบาทในการให้คำปรึกษาแนะนำ โดยการให้ความสำคัญกับการตอบข้อสอบถามของหน่วยรับตรวจเกี่ยวกับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 หรือในเรื่องที่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รวมถึงการให้คำปรึกษา แนะนำ หรือเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตลอดจนการให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐในการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน และจัดทำฐานข้อมูลการตอบข้อสอบถาม การให้คำปรึกษา แนะนำ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน
1.3 การส่งเสริมและสนับสนุนให้ สตง. เป็นองค์กรตรวจเงินแผ่นดินชั้นนำที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและระดับสากล
1.4 การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบบริหารจัดการภายในด้านการปรับโครงสร้างองค์กร การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาด้านงานวิจัย และนวัตกรรมและการพัฒนาองค์กรเข้าสู่องค์กรภาครัฐยุคดิจิทัล
2. ผลสัมฤทธิ์ในการตรวจเงินแผ่นดิน
2.1 การตรวจเงินแผ่นดินเป็นไปตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินและหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และเจ้าหน้าที่ของหน่วยรับตรวจได้รับโอกาสในการชี้แจงเหตุผลและแสดงพยานหลักฐาน
2.2 การบริหารการเงินการคลังของรัฐเกิดผลสัมฤทธิ์มีประสิทธิภาพตอบสนองต่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน และสอดคล้องกับสถานะการเงินการคลังของประเทศ
2.3 ทุกภาคส่วนมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาเงินแผ่นดิน และมีส่วนร่วมในการดูแลและรักษาเงินแผ่นดิน
2.4 สตง. มีระบบบริหารและการจัดการภายในที่สนับสนุนและเสริมสร้างความสามารถด้านการตรวจเงินแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และโรคระบาด
3. การดำเนินการเพื่อพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน
3.1 ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน
1) ส่งเสริม ให้ความช่วยเหลือและให้ความเห็นต่อวิธีปฏิบัติทางบัญชีภาครัฐ เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน
2) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากระบวนการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ให้เป็นไปตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินและหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
3) เสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐสภา โดยแสดงบทบาทหลักในการให้คำปรึกษา แนะนำ การให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมาย พร้อมทั้งเสนอแนะต่อรัฐสภาเกี่ยวกับการบริหารการเงินการคลังของรัฐบาลในเรื่องการใช้จ่ายเงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) และการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง
3.2 ด้านการบริหารจัดการองค์กร
1) ศึกษาความเหมาะสมในการปรับปรุงโครงสร้างภายใน สตง. เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2) ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการตรวจสอบที่เหมาะสมในช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
3) พัฒนาระบบการบริหารจัดการและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเข้าสู่การเป็นองค์กรภาครัฐยุคดิจิทัล ด้วยการพัฒนาทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับบุคลากร (Digital Lteracy) การนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) มาใช้ในการปฏิบัติงานและการตรวจสอบเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความสามารถทางด้านการตรวจเงินแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคระบาด
3.3 ด้านการเสริมสร้างการมีส่วนร่วม
1) ส่งเสริมและสนับสนุนการให้ความรู้ คำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินแก่ภาคประชาชน
2) พัฒนารูปแบบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีเพื่อแสดงให้เห็นผลการตรวจสอบในภาพรวมด้านกฎหมาย ผลสัมฤทธิ์ ประสิทธิภาพของการบริหารเงินแผ่นดินและวินัยการเงินการคลังของหน่วยรับตรวจ รวมถึงสนับสนุนให้มีการรายงานผลการปฏิบัติงานระหว่างงวด (Interim Report) ต่อรัฐสภา ในประเด็นข้อตรวจพบที่เป็นประโยชน์และมีความสำคัญเป็นพิเศษ
3) พัฒนารูปแบบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีให้เข้าใจง่าย มีความน่าสนใจภาคประชาชนสามารถเข้าถึงรายงานผลการปฏิบัติงานของ สตง. ได้อย่างสะดวกเพื่อเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในการสอดส่องดูแลรักษาเงินแผ่นดินและสาธารณสมบัติ
3.4 ด้านการต่างประเทศ
1) ส่งเสริมและสนับสนุนการทำหน้าที่ประธานองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งเอเชีย (Chairman of ASOSAI) วาระปี พ.ศ. 2564 - 2567 และการทำหน้าที่คณะมนตรีองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INTOSAIGoverning Board) วาระปี พ.ศ. 2562-2568
2) ส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดิน ด้านการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ด้านการสนับสนุนการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และด้านภัยพิบัติและโรคระบาดให้สอดคล้องกับปฏิญญากรุงเทพ 2564 (Bangkok Declaration 2021)
3) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการ ประสบการณ์ และการวิจัยกับประเทศสมาชิกองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งอาเซียน (ASEANSAI) องค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งเอเชีย (ASOSAI) และองค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INTOSAI) เพื่อนำองค์ความรู้ด้านการตรวจเงินแผ่นดินจากนานาประเทศ มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานและการตรวจสอบภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคระบาด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11934