ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีด้าน SPS อาเซียน-จีน ครั้งที่ 7 และการลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยและจีนฉบับใหม่
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 05 December 2021 21:34
- Hits: 3090
ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีด้าน SPS อาเซียน-จีน ครั้งที่ 7 และการลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยและจีนฉบับใหม่
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อาเซียน-จีน ครั้งที่ 7 (China-ASEAN Ministerial Meeting on SPS Cooperation) และการลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทย (ไทย) และสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ฉบับใหม่ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การประชุมระดับรัฐมนตรี SPS อาเซียน-จีน ครั้งที่ 7 ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพ โดยมีรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศเข้าร่วมการประชุม สรุปได้ ดังนี้
1.1 ที่ประชุมรับทราบและเห็นชอบเรื่องต่างๆ ดังนี้
1.1.1 รับทราบผลการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 23 และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ โดยอาเซียนและจีนมีความพึงพอใจในความคืบหน้าของความร่วมมือด้าน SPS มีความยินดีกับการขยายตัวของเศรษฐกิจการค้าระหว่างอาเซียนและจีน มีการตระหนักถึงความท้าทายที่เกิดจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันเพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
1.1.2 รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือด้าน SPS ระหว่างอาเซียนและจีน ซึ่งมีขอบเขตความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่
(1) การจัดตั้งระบบสารสนเทศ การสื่อสาร และการแจ้งเตือนระหว่างกัน จีนได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.chinaaseansps.com อย่างเป็นทางการเพื่อรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลความร่วมมือด้าน SPS ระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนในรูปแบบ Big Data
(2) การแลกเปลี่ยนการเยือนของบุคลากรในระดับต่างๆ
(3) การฝึกอบรมและสัมมนาเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาภายในอาเซียนและจีนในด้านสินค้าพืช สัตว์ และอาหาร เช่น ความร่วมมือเพื่อป้องกันแพร่ระบาดของโรคสัตว์และแมลงศัตรูพืชข้ามพรมแดน
(4) การวิจัยร่วม
(5) การจัดตั้งกลไกการหารือ
1.1.3 เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติงานประจำปี 2565 - 2566 ซึ่งมีโครงการที่ไทยต้องดำเนินการ 2 โครงการ ได้แก่
(1) โครงการฝึกอบรมเกี่ยวกับระบาดวิทยาในสัตว์น้ำและการตรวจวินิจฉัยโรคสัตว์น้ำอย่างเร็ว ณ ด่านพรมแดน
(2) โครงการพัฒนาการปฏิบัติที่ดีด้านการกักกันสัตว์ ณ ด่านท่าอากาศยาน และด่านท่าเรือ
1.1.4 เห็นชอบการเร่งรัดกระบวนการภายในของแต่ละประเทศเพื่อนำไปสู่การลงนามภายในปี 2564 โดย MOU ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านมาตรการ SPS เพื่อให้การค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างอาเซียนและจีนเป็นไปตามข้อกำหนดและสอดคล้องกับหลักการของความตกลงว่าด้วยการบังคับใช้มาตรการ SPS ขององค์การการค้าโลกและมีส่วนสนับสนุนการดำเนินการด้าน SPS ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน
1.2 ที่ประชุมได้รับรองร่างแถลงข่าวร่วม โดยเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือด้าน SPS ระหว่างอาเซียนและจีน การส่งเสริมความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนและความพยายามร่วมกันในการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งประกาศความสำเร็จในการจัดทำ ASEAN-China MOU On SPS ฉบับใหม่ และมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้าน SPS ระหว่างอาเซียนและจีนเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งอาหารและสินค้าเกษตรข้ามพรมแดนในช่วงวิกฤตของการแพร่ระบาดของ โควิด-19
2. ไทยและจีนได้ลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยและจีนฉบับใหม่แล้ว โดยประโยชน์ที่ได้จากการประชุม มีดังนี้ (1) การดำเนินความร่วมมือภายใต้ ASEAN-China MOU on SPS เป็นไปอย่างต่อเนื่อง (2) การผลักดันความร่วมมือด้านมาตรการ SPS ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนอย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านการเกษตรในภูมิภาคอย่างยั่งยืน และ (3) ไทยและจีนสามารถใช้โอกาสนี้ในการลงนามในพิธีสารฯ ร่วมกัน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11931