ร่างปฏิญญาทางการเมืองเรื่องการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับโลกของสหประชาชาติเพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 05 December 2021 21:08
- Hits: 2767
ร่างปฏิญญาทางการเมืองเรื่องการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับโลกของสหประชาชาติเพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองเรื่องการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับโลกของสหประชาชาติเพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์ (ร่างปฏิญญาทางการเมืองฯ) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยก่อนการรับรอง ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สามารถใช้ดุลพินิจดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองฯ ในช่วงการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติเรื่องการประเมินการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับโลกของสหประชาชาติเพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์ (การประชุมระดับสูงฯ เพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
[จะมีการรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองฯ ในการประชุมระดับสูงฯ เพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์วันที่ 22 - 23 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบผสมผสาน ได้แก่ (1) เข้าร่วมการประชุม ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และ (2) การประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลโดยไทยจะร่วมรับรองผ่านระบบการประชุมทางไกล]
สาระสำคัญร่างปฏิญญาทางการเมืองฯ จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของปฏิญญาทางการเมือง (ตามมติคณะรัฐมนตรี 26 กันยายน 2560) โดยมีการปรับปรุงเพิ่มเติมถ้อยคำบางส่วน เพื่อสะท้อนบริบทของสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในทางที่ผิด การค้ามนุษย์และการแสวงประโยชน์ทางเพศผ่านช่องทางออนไลน์ การค้ามนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์ในการลักอวัยวะ และการค้ามนุษย์ในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาทางการเมืองฯ ได้ผ่านการหารือโดยประเทศสมาชิกสหประชาชาติแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
การให้สัตยาบันต่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง |
เน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (อนุสัญญาฯ) และพิธีสารเพื่อป้องกันปราบปรามและลงโทษ การค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็กเพื่อเสริมอนุสัญญาฯ และเร่งรัดให้ประเทศที่เหลือให้สัตยาบันต่อเอกสารดังกล่าว ซึ่งรวมถึงตราสารระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับการค้ามนุษย์ด้วย เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพิธีสารทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เป็นต้น |
|
ความหมายของการค้ามนุษย์ |
การค้ามนุษย์ หมายถึง (1) การสรรหา การขนส่ง การโยกย้าย การให้ที่พักอาศัย หรือการรับคนโดยการขู่เข็ญหรือใช้กำลังหรือการบังคับในรูปแบบอื่น โดยการลักพาตัว การฉ้อโกง การหลอกล่อการใช้อำนาจ การให้หรือรับสินบนหรือผลประโยชน์เพื่อได้รับความยินยอมจากบุคคลผู้อยู่ภายใต้การควบคุม โดยมีจุดประสงค์เพื่อการหาผลประโยชน์ (2) การหาผลประโยชน์จากการค้าประเวณีของผู้อื่น หรือการหาผลประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น จากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ (3) การใช้แรงงานทาสหรือการกระทำที่คล้ายคลึงกัน และ (4) การลักอวัยวะ |
|
วันต่อต้านการค้ามนุษย์โลก |
กำหนดให้วันที่ 30 กรกฎาคม เป็นวันต่อต้านการค้ามนุษย์โลก (ตามข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ ที่ 68/192 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2556) เพื่อรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์แนวทางการแก้ไข |
|
แนวทางการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ |
(1) การจัดการปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมืองและปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้ผู้คนมีความเสี่ยงตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เช่น ความยากจนความด้อยพัฒนา การโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ ภาวะไร้สัญชาติ การว่างงาน ความไม่เท่าเทียม ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ความรุนแรงทางเพศ การเลือกปฏิบัติทางเพศและเชื้อชาติ ความทุพพลภาพ การกีดกันทางการเงินและสังคม การตกเป็นคนชายขอบ การตีตรา การทุจริต และการข่มเหง (2) ให้ผู้เสียหายและผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์มีส่วนร่วมเต็มที่ในการออกแบบดำเนินการ สังเกตการณ์ และประเมินผลเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ (3) นำกฎระเบียบที่มีจริยธรรมและโปร่งใสมาใช้ควบคุมการบริจาคอวัยวะเสริมสร้างกรอบกฎหมาย รวมถึงการทบทวน พัฒนา หรือแก้ไขตามความเหมาะสมเพื่อป้องกันและต่อสู้กับการค้ามนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์ในการลักอวัยวะและการค้าอวัยวะ (4) การใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการยับยั้งและลงโทษแนวทางการจัดหางานที่ฉ้อฉลและไม่เหมาะสมโดยจะต้องมีการตรวจสอบและมาตรการลงโทษที่เข้มงวดหรือผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ประเทศสมาชิก องค์กรพหุภาคีและภาคเอกชนนำแนวปฏิบัติที่มีจริยธรรมและโปร่งใสมาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในห่วงโซ่อุปทานของตน (5) เพิ่มความพยายามในการป้องกันการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ และสร้างลู่ทางเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ เพื่อลดโอกาสของผู้คน(ผู้โยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัย) ในการถูกค้ามนุษย์ (6) การเสริมสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ และสนับสนุนให้หน่วยงานในระบบองค์การสหประชาชาติให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกตามที่ร้องขอ |
|
แนวทางการคุ้มครองผู้เสียหาย |
(1) ให้ประเทศสมาชิกออกกฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายของประเทศและกำหนดนโยบาย โครงการ หรือวิธีการอื่นๆ ที่ครอบคลุม เพื่อที่จะให้การคุ้มครองผู้เสียหายผู้เสียหายที่เป็นเพศหญิงและเด็กจากการตกเป็นผู้เสียหายซ้ำ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือและการคุ้มครองที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก (2) อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองผู้ที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยไม่มีเงื่อนไขว่าพวกเขาต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินคดี โดยสอดคล้องกับกฎหมายของประเทศ (3) สนับสนุนให้มีกฎหมายและนโยบายที่ลดการพึ่งพาคำให้การของผู้เสียหาย เช่น การใช้หลักฐานดิจิทัล บันทึกการเงิน หรือหลักฐานอื่นๆ ตามความเหมาะสม หากคำให้การของผู้เสียหายเป็นเรื่องจำเป็น ต้องคำนึงถึงความเปราะบางของผู้เสียหายตลอดจนการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพต่อความเสียหายที่ได้รับ (4) สนับสนุนให้นำหลักการไม่ลงโทษผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ไปใช้กับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ถูกบังคับให้มีส่วนร่วม อันเป็นผลโดยตรงจากสภาวะการถูกค้ามนุษย์ของพวกเขา โดยใช้กับการลงโทษทุกประเภทซึ่งรวมถึงความผิดทางอาญา ทางแพ่ง ทางปกครอง และการเข้าเมือง รวมถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้เสียหายที่ถูกลงโทษอย่างไม่เป็นธรรมในการกระทำที่ผิดกฎหมายซึ่งได้กระทำไปภายใต้สภาวการณ์ที่พวกเขาตกเป็นผู้เสียหาย |
|
แนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของกระบวนการยุติธรรม |
(1) ยกระดับมาตรการป้องกัน มาตรการทางกฎหมายและการลงโทษ เพื่อยับยั้งผู้แสวงหาผลประโยชน์ รวมถึงผู้สนับสนุนและได้ประโยชน์จากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ของกระบวนการ (2) พยายามที่จะกำหนดให้การค้ามนุษย์ทุกรูปแบบเป็นความผิดทางอาญาและเสริมสร้างความร่วมมือและการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกทั้งประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง เพื่อต่อต้านและทำลายเครือข่ายอาชญากรที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมดังกล่าว (3) เพิ่มประสิทธิภาพการแบ่งปันข้อมูลโดยเคารพต่อกฎหมายภายในประเทศและความช่วยเหลือทางกฎหมายร่วมกัน (4) การส่งผู้ร้ายข้ามแดนในอาชญากรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เช่น การฟอกเงิน การทุจริต การหมุนเวียนของเงินที่ผิดกฎหมาย การลักลอบขน แรงงานข้ามชาติ การค้ายาเสพติด และอาชญากรรมทุกประเภท (5) เพิ่มขีดความสามารถของการบังคับใช้กฎหมายและระบบยุติธรรมทางอาญาในการแยกแยะ ตรวจสอบ และดำเนินคดีกับคดีการค้ามนุษย์ และวิเคราะห์การหมุนเวียนทางการเงิน เพื่อสืบหาเครือข่ายอาชญากรรมเหล่านั้นร่วมกับสถาบันการเงิน (6) เสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ปฏิบัติงานด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย อัยการ ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และคุมประพฤติ เพื่อให้การดูแลและความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหาย โดยเน้นผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง และคำนึงถึงความละเอียดอ่อนด้านอายุและเพศซึ่งคำนึงถึงความทุพพลภาพและบาดแผล และการตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้หญิง เยาวชน และเด็ก |
|
ข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ส่งผลต่อปัญหาการค้ามนุษย์ |
(1) การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทำให้สถานการณ์ความเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ที่มีอยู่แล้วรุนแรงยิ่งขึ้น (2) การจัดหาทรัพยากรในระดับสากลเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ที่ไม่เพียงพอโดยเน้นย้ำการสนับสนุนต่อกองทุนสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์โดยเฉพาะในผู้หญิงและเด็ก (3) ความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างกลุ่มติดอาวุธ กลุ่มผู้ก่อการร้าย และการค้ามนุษย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบังคับแต่งงานในผู้หญิงและเด็กหญิง ความเป็นทาสทางเพศ การบังคับตั้งครรภ์ การบังคับใช้แรงงาน การบังคับเป็นทาสในครัวเรือน และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ และการบังคับผู้ชายและเด็กชายให้ใช้แรงงานหรือสู้รบ (4) การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในทางที่ผิดมากขึ้น โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต เพื่อนำมาใช้ในแง่มุมต่างๆ ของการค้ามนุษย์ รวมถึงการโฆษณาการดูแล การรับสมัคร การควบคุม การทำธุรกรรมทางการเงิน และการแสวงประโยชน์รูปแบบต่างๆ รวมถึงการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กผ่านช่องทางออนไลน์และการผลิตและจำหน่ายภาพอนาจารเด็กและสื่อการล่วงละเมิดทางเพศเด็กอื่นๆ |
|
การติดตามและการทบทวนพันธกรณี |
ตระหนักถึงความจำเป็นในการติดตามและทบทวนพันธกรณีทั้งหมดที่ได้ทำในการประชุมระดับสูงในปัจจุบันอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการประชุมระดับสูงพันธกรณีของสมัชชาใหญ่ในทุกสี่ปี |
ทั้งนี้ กต. แจ้งว่า ร่างปฏิญญาทางการเมืองฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11926