การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 05 December 2021 21:04
- Hits: 3035
การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13 (13th Asia-Europe Meeting – ASEM 13) รวม 3 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างแถลงการณ์ประธานการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13 (13th Asia-Europe Meeting Chair’s Statement) 2) ร่างแถลงการณ์พนมเปญว่าด้วยการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Phnom Penh Statement on the post-COVID-19 Socio-Economic Recovery) และ 3) ร่างเอกสารเส้นทางสู่ความเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย-ยุโรป (The Way Forward on ASEM Connectivity) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งให้นายกรัฐมนตรี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13 เป็นผู้ร่วมให้การรับรองร่างเอกสารดังกล่าวตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13 จำนวน 3 ฉบับ สรุปได้ ดังนี้
1. ร่างแถลงการณ์ประธานการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13 ย้ำบทบาทของ ASEM ในการส่งเสริมพหุภาคีนิยมเพื่อการเจริญเติบโตร่วมกัน โดยเฉพาะในบริบทของโลกหลังวิกฤตการแพร่บาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยในประเด็นด้านการเมือง ให้ความสำคัญกับการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนการส่งเสริมบทบาทสตรีในด้านสันติภาพและความมั่นคง การโยกย้ายถิ่นฐาน ความมั่นคงด้านไซเบอร์ ความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ความมั่นคงทางทะเล ตลอดจนสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี อิหร่าน และเมียนมา ในประเด็นด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนความร่วมมือเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 การรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมุทราภิบาล บทบาทขององค์การการค้าโลกในการส่งเสริมระบบการค้าระหว่างประเทศ การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การสร้างความเชื่อมโยงในกรอบ ASEM ในประเด็นสังคมและวัฒนธรรม เน้นการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน การสนับสนุนบทบาทเยาวชน ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การศึกษา และบทบาทของมูลนิธิเอเชีย-ยุโรป ในการสนับสนุนกิจกรรม ด้านต่างๆ ภายใต้กรอบ ASEM
2. ร่างแถลงการณ์พนมเปญว่าด้วยการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กล่าวสนับสนุนบทบาทขององค์การอนามัยโลกในการรับมือกับโรคระบาดย้ำความจำเป็นในการเข้าถึงยาและวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างปลอดภัยและเท่าเทียม การสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานและระบบการค้โลกให้เข้มแข็งและสามารถรองรับความเสี่ยงด้านลบได้ การส่งเสริมความเชื่อมโยงและการเดินทางระหว่างกันผ่านการใช้งานร่วมกันของเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 การสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจผ่านการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การส่งเสริมบทบาทขององค์การการค้าโลก การพัฒนาความรู้และทักษะของแรงงาน การส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ
3. ร่างเอกสารเส้นทางสู่ความเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย-ยุโรป เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางการเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโส ASEM กับกลไกความร่วมมือรายสาขาต่างๆ ของ ASEM ที่มีอยู่แล้ว เพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านความเชื่อมโยงในกรอบ ASEM และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโครงการด้านความเชื่อมโยงต่างๆ ในกรอบ ASEM ต่อสาธารณชน โดยไม่ต้องจัดตั้งกลไกใหม่เพื่อประสานความร่วมมือ ASEM ด้านความเชื่อมโยง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 25 - 26 พฤศจิกายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยราชอาณาจักรกัมพูซาเป็นเจ้าภาพซึ่งที่ประชุมฯ จะมีการรับรองและออกเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับดังกล่าวด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11925