ขออนุมัติกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 28 และการประชุมระหว่างคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 26
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 05 December 2021 21:02
- Hits: 2905
ขออนุมัติกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 28 และการประชุมระหว่างคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 26
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (คณะมนตรีฯ) ครั้งที่ 28 และการประชุมระหว่างคณะมนตรีฯ กับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 26 (กรอบการหารือฯ)
2. เห็นชอบให้คณะผู้แทนไทยหารือกับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงตามประเด็นในกรอบการหารือฯ เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานและความร่วมมือเป็นไปตามพันธกรณีของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน
3. อนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ในฐานะประธานคณะมนตรีฯ ประจำปี 2564 และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามรับรองในรายงานการประชุม โดยที่เอกสารดังกล่าว มิได้ใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดพันธกรณีกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เข้าข่ายหนังสือสัญญา [การประชุมคณะมนตรีฯ ครั้งที่ 28 และการประชุมระหว่างคณะมนตรีฯ กับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 26 จะจัดขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ที่กรุงเทพมหานคร โดยราชอาณาจักรไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วนประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference)]
สาระสำคัญของเรื่อง
ราชอาณาจักรไทยได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนร่วมกับราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2538 (1995 Mekong Agreement) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกๆ ด้าน เช่น การชลประทาน การคมนาคม การพลังงาน การท่องเที่ยว การขนส่ง เป็นต้น รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องของลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้เป็นไปตามพันธกรณีของความตกลงดังกล่าว โดยองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประกอบด้วย (1) คณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (คณะมนตรีฯ) มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดและตัดสินใจในเรื่องนโยบายและการดำเนินความร่วมมือ (2) คณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (คณะกรรมการร่วมฯ) มีหน้าที่ในการประสานงานและดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะมนตรีฯ และ (3) สำนักงานเลขาธิการ มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านธุรการของคณะกรรมาธิการ แม่น้ำโขง
กรอบการหารือฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานและความร่วมมือของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ภายใต้พันธกรณีของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 และตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขง พ.ศ. 2564 – 2573
ประเด็นหารือ |
รายละเอียด |
|
การปรับปรุงระเบียบปฏิบัติของคณะมนตรีฯ และการปรับปรุงระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมการร่วมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (คณะกรรมการร่วมฯ) (Rules of Procedures for MRC Council and Rules of Procedures for MRC Joint Committee) |
- การปรับปรุงระเบียบปฏิบัติของคณะมนตรีฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการใช้ถ้อยคำให้กระชับ ลดการใช้ถ้อยคำที่ซ้ำซ้อนและเพิ่มเติมถ้อยคำให้ประโยคมีความชัดเจน ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญขัดต่อความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 (Mekong Agreement 1995) - การปรับปรุงระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมการ ร่วมฯ มีวัตถุประสงค์ เพื่อปรับภาษาให้กระชับ ลดการใช้ถ้อยคำที่ซ้ำซ้อน รวมทั้งการเพิ่มช่องทางการประชุมของคณะกรรมการร่วมฯ ให้มีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หากเกิดสถานการณ์ที่ไม่สามารถประชุมแบบกายภาพได้ ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญขัดต่อความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 (Mekong Agreement 1995) - สทนช. พิจารณาแล้วเห็นควรอนุมัติการปรับปรุงระเบียบปฏิบัติของคณะมนตรีฯ ซึ่งเป็นการปรับปรุงการใช้ภาษาให้มีความกระชับและชัดเจน และการปรับปรุงระเบียบปฏิบัติของคณะกรรมการร่วมฯ ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ไม่สามารถจัดให้มีการประชุมทางกายภาพได้ |
|
แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาไฟฟ้า พลังน้ำอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำโขง ตอนล่าง [The Sustainable Hydropower Development Strategy (SHDS 2021) for the Lower Mekong Basin] |
- แผนยุทธศาสตร์ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดและวิเคราะห์ทางเลือกในการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำร่วมกันเพื่อลดผลกระทบข้ามพรมแดนโดยพยายามที่จะตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประเทศสมาชิกและโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นรวมถึงความท้าทายในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มผลประโยชน์ภายในและนอกพรมแดนของประเทศรักษาสมดุลความมั่นคงในด้านน้ำ พลังงาน อาหาร สิ่งแวดล้อม และการดำรงชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยตามริมฝั่งแม่น้ำโขง ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ โดยเรียงลำดับความสำคัญ ดังนี้ 1. การบูรณาการอย่างยั่งยืนให้เป็น Project-level โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การเตรียมการ การออกแบบ การก่อสร้าง และการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำร่วมกัน 2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของการดำเนินการและการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลักษณะการบริหารจัดการแบบขั้นบันได (Management of Hydro Power Cascades) 3. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับภูมิภาคและความร่วมมือเกี่ยวกับแผนความร่วมมือด้านน้ำและพลังงานเพื่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและพลังงาน และลดความเสี่ยงผลกระทบข้ามพรมแดนต่อภาคสังคมและสิ่งแวดล้อม 4. ส่งเสริมความเป็นอยู่ของภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก สตรี และชนกลุ่มน้อย 5. การศึกษาวิจัยร่วมเพื่อเป็นเครื่องมือเติมเต็มช่องว่างขององค์ความรู้และพัฒนาเครื่องมือในการศึกษาวิจัยเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการบริหารจัดการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน - สทนช. พิจารณาแล้วเห็นควรอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ ฯ อย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือ แผนยุทธศาสตร์ฯ เป็นกรอบการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายในแผนการพัฒนาพลังงานสำรองของแต่ละประเทศ และเงื่อนไขที่อาจกำหนดเพิ่มเติมเพื่อการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน เช่น พลังงานไฟฟ้าที่พัฒนาต้องไม่สร้างผลกระทบ ต่อระบบนิเวศและความเดือดร้อนต่อภาคประชาชน เป็นต้น |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11924