สรุปผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 16 (CMP 16) การประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสสมัยที่ 3 (CMA 3) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 05 December 2021 20:54
- Hits: 4197
สรุปผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 16 (CMP 16) การประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีสสมัยที่ 3 (CMA 3) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 16 (CMP 16) การประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส สมัยที่ 3 (CMA 3) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร และถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีในการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในห้วงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 โดยมอบหมายกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดเตรียมการดำเนินงานตามภารกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีในการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในห้วงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญ
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 16 (CMP 16) การประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส สมัยที่ 3 (CMA 3) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 12 พฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร มีผู้เข้าร่วมการประชุมจาก 196 ประเทศ และผู้แทนจากองค์กรผู้สังเกตการณ์ จำนวน 34,509 คน โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 26 (COP 26 World Leaders Summit) มีขึ้นในวันที่ 1 - 2 พฤศจิกายน 2564 มีประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลเข้าร่วม จำนวน 117 ประเทศ ตามการเชิญชวนของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี ของสหราชอาณาจักรในฐานะเจ้าภาพการ ประชุมฯ เพื่อร่วมกล่าวถ้อยแถลงแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยประเด็นสำคัญที่สหราชอาณาจักรให้ความสำคัญ ประกอบด้วย การที่ประเทศต่างๆ ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งในปี ค.ศ. 2030 เพื่อให้สามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเชียส นอกจากนั้น ยังได้เชิญชวนให้ประเทศเข้าร่วมปฏิญญาและถ้อยแถลงที่ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย ปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นำด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use) ถ้อยแถลงที่ประชุมระดับผู้นำในวาระการพัฒนาที่สำคัญ (World Leader Summit Statement on the Breakthrough Agenda) ถ้อยแถลงการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลกจากถ่านหินสู่พลังงานสะอาด (Global Coal to Clean Power Transition Statement) และปฏิญญาที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 26 ในการเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (COP 26 Declaration on Accelerating the Transition to 100% Zero Emission Cars and vans) ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมฯ พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1) การกล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทย โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 มีสาระของถ้อยแถลงที่เน้นแสดงจุดยืนของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศและทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการแก้ปัญหานี้ โดยในปัจจุบันสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลก แต่ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส และดำเนินการที่สอดคล้องตามพันธกรณีมาอย่างต่อเนื่องและแข็งขัน โดยประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานตามแผนที่การลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ หรือ NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Action) ในภาคพลังงานและขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี ค.ศ. 2020 แต่ทว่าในปี ค.ศ. 2019 ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้วร้อยละ 17 ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 2 เท่า และก่อนเวลาที่ใด้กำหนดไว้มากกว่า 1 ปี นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 2020 ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่จัดส่งกามีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดหรือ Updated NDC (Updated Nationally Determined Contribution) และล่าสุดในปี ค.ศ. 2021 ได้จัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy) ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ด้วย นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้แสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในหรือก่อนปี ค.ศ. 2065 และหากได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยีและการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ที่เหมาะสม ประเทศไทยจะสามารถลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ได้ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทยได้นำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy (Bio Circular Green Economy) มาผนวกในยุทธศาสตร์แห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การปรับกระบวนทัศน์และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ โดยประเทศไทยจะนำแผนนี้มาเป็นวาระหลักของการประชุมเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า (พ.ศ. 2565)
2) ถ้อยแถลงของผู้นำประเทศอื่นๆ
(2.1) สหราชอาณาจักร โดยนายบอริส จอห์นสัน เน้นย้ำความเร่งด่วนที่ประเทศต้องยกระดับการดำเนินงานเพื่อทำให้เป้าหมายการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา เซลเชียสเป็นจริง ด้วยการยกเลิกโรงไฟฟ้ถ่านหิน ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วควรทำได้ภายในปี ค.ศ.2030 และประเทศกำลังพัฒนาภายในปี ค.ศ. 2040 โดยสหราชอาณาจักรมีแผนจะยกเลิกรถยนต์ที่ใช้น้ำมันภายในปี ค.ศ. 2035 และยกลิกการขายรถยนต์ดังกล่าวในปี ค.ศ. 2030 รวมถึงยุติการทำลายป่าภายในปี ค.ศ 2030
(2.2) สหรัฐอเมริกา โดยนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดี เน้นการกลับมาเป็นผู้นำในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐอเมริกา โดยจะสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และสนับสนุนทางการเงินในการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเรียกร้องให้ต้องมีการยกระดับการดำเนินงานร่วมกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ
(2.3) สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดี ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมฯ แต่ได้จัดส่งเอกสารถ้อยแถลงซึ่งแสดงถึงแผนงานเพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสูงสุดก่อนปี ค.ศ. 2030 และมุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2060
(2.4) สาธารณรัฐอินเดีย โดยนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรี ประกาศเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2070 รวมถึงจะลดการปล่อยคาร์บอนลง 1,000 ล้านตัน ภายในปี ค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปัจจุบัน จะลดความเข้มข้นของคาร์บอน (Carbon Intensity) ให้น้อยกว่าร้อยละ 45 ภายในปี ค.ศ. 2030
(2.5) เครือรัฐออสเตรเลีย โดยนายสก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรี ประกาศจะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 35 ภายในปี ค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2005
(2.6) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดี ประกาศเป้าหมายในภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี ค.ศ. 2030
(2.7) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามโดยนายฟาม มินห์ จิญ นายกรัฐมนตรีประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยใช้ทรัพยากรในประเทศร่วมกับการสนับสนุนและความร่วมมือทางเทคโนโลยีและการเงินจากต่างประเทศ
2. การดำเนินงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
1) การหารือทวิภาคีระดับรัฐมนตรี โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้หารือเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเชิงนโยบายกับ 2 ประเทศ ได้แก่
(1) การหารือทวิภาคีกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรชาติและสิ่งแวดล้อม ได้หารือกับนางบุณคำ วรจิต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญร่วมกัน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณภาพอากาศและหมอกควันข้ามแดน และการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งยกระดับการดำเนินงานในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งเสริมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ประเทศกำหนดไว้ได้ รวมถึงการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ ทั้งสองประเทศต่างได้รับผลกระทบที่รุนแรง อาทิ การรุกล้ำของน้ำทะเล และน้ำป่าไหลหลาก เป็นต้น นอกจากนี้ฝ้ายลาวได้แสดงความขอบคุณความร่วมมือจากไทยต่อโครงการจัดสร้างสวนรุกขชาติไทย-ลาว และขอรับบสนุนในการพัฒนาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ การจัดการหมอกควันข้ามแดน และการจัดการขยะพลาสติก รวมถึงการผลิตพลังงานจากขยะ ตลอดจนแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเชิงนโยบายในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งฝ่ายไทยยินดีสนับสนุน เนื่องจากเห็นว่าการแลกเปลี่ยนเชิงนโยบายจะทำให้สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากทั้งสองประเทศมีปัจจัยทางภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตคล้ายคลึงกัน
(2) การหารือทวิภาคีกับสมาพันธรัฐ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้หารือกับ Mrs. Simonetta Sommaruga รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมการขนส่ง พลังงาน และการสื่อสาร สมาพันธรัฐสวิส โดยต่างเน้นย้ำความตั้งใจที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมุ่งสนับสนุนการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ให้ประสบผลสำเร็จ และนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาพรวมของโลกอย่างแท้จริง ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เน้นย้ำการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ท้าทายของประเทศไทยตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศในที่ประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 26 (COP 26 World Leaders Summit) ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศและการสนับสนุนจากกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญฯ เพื่อมุ่งบรรลุตามเป้าหมายดังกล่าว ทั้งในเรื่องของการเงินสีเขียว (Green Finance) การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนและแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อมุ่งบรรลุตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ โดยในระยะต่อไปกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเน้นการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งความร่วมมือกับสมาพันธรัฐสวิสภายใต้แนวทางการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศของข้อ 6 ของความตกลงปารีส เป็นประเด็นหนึ่งที่ประเทศไทยให้ความสนใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งการสนับสนุนทางการเงิน ถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเสริมสร้างขีดความสามารถ โดยเฉพาะต่อภาคเอกชนในประเทศ ขณะที่สมาพันธรัฐสวิสเห็นพ้องว่าการดำเนินความร่วมมือนี้ของภาครัฐจะนำมาสู่การพัฒนาโครงการและกิจกรรมที่จะช่วยขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการลดก๊ซเรือนกระจกของประเทศควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยสมาพันธรัฐสวิสมีความสนใจที่จะพัฒนาโครงการรถโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้า (E-bus) ในประเทศไทยภายใต้แนวทางการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศของข้อ ๖ ของความตกลงปารีส เนื่องจากสมาพันธรัฐสวิสประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสาขานี้ ทำให้มีการปล่อยก๊ซเรือนกระจกต่ำช่วยลดมลพิษทางอากาศและเสียง และได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคประชาชน ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศต่างยึดถือหลักการสำคัญในเรื่องของความโปร่งใสในการดำเนินงานและการไม่ให้เกิดการนับซ้ำ (double counting) ของผลการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว นอกจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เชิญชวนสมาพันธรัฐสวิส เข้าร่วมการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference: TCAC) ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 เพื่อเปิดโอกาสให้จังหวัดและส่วนภูมิภาค รวมถึงภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ร่วมนำเสนอสถานการณ์ ประสบการณ์และแสดงเจตจำนงในการมีส่วนร่วมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของตนในรูปแบบ bottom-up approach ด้วย
3. การจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมเสวนาคู่ขนาน ณ ศาลาไทย (Thai Pavilion) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 26 ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 12 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาคีความร่วมมือภาคเอกชน ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดนิทรรศการ Thailand Pavilion ขึ้น เพื่อนำเสนอยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-term Greenhouse Gas Emission Development Strategy) และการดำเนินงานเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคีความร่วมมือภาคเอกชนพร้อมทั้งมีการจัดกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ภายใน Thailand Pavilion ซึ่งนิทรรศการและกิจกรรมคู่ขนานนี้ ได้รับความสนใจจากนานาประเทศเป็นอย่างยิ่งในการเข้าเยี่ยมชม สอบถาม แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมทั้งการหารือความร่วมมือการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. การดำเนินงานขั้นต่อไป กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะประสานหน่วยงานภายใต้คณะทำงานเจรจาสำหรับการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติด้านการประสานท่าทีเจรจาและความร่วมมือระหว่างประเทศในการวิเคราะห์ผลการประชุมในครั้งนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่ประเทศไทยต้องดำเนินการ และเตรียมความพร้อมในประเด็นสารัตถะ บุคลากรและงบประมาณสำหรับเข้าร่วมการประชุมภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีสอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมหารือในประเด็นสำคัญอันจะส่งผลต่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศและการดำเนินงานตามพันธกรณีของกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีสต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 23 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11923