ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 14/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 16 November 2021 22:41
- Hits: 8513
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 14/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ดังนี้
1. อนุมัติให้นำวงเงินกู้เพื่อการตามมาตรา 5 (2)1 มาใช้เพื่อการตามมาตรา 5 (1)2 เพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) จำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 สำหรับการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ของหน่วยงานรับผิดชอบ
2. มอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบที่ได้รับอนุมัติดำเนินโครงการ โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563) และพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ เร่งดำเนินการคืนเงินกู้เหลือจ่ายและรายงานประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการเสนอกระทรวงการคลัง (กค.) ตามขั้นตอนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2563 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ กู้เงิน พ.ศ. 2563) และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พ.ศ. 2564 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ กู้เงิน เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สามารถบริหารกรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 และพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. อนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (โครงการฯ) ปี 2564 รอบที่ 5 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแห่งชาติ (สปสช.) กรอบวงเงิน 20,829.2340 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ/สถานพยาบาลตามเกณฑ์ที่กำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รอบที่ 5 ทั้งนี้ สปสช. และหน่วยงานรับผิดชอบต้องตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายดังกล่าวว่าเป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการให้บริการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 ตามวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 และไม่มีความซ้ำซ้อนกับแหล่งเงินงบประมาณและแหล่งเงินอื่นๆ
4. มอบหมายให้ สปสช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการฯ ปี 2564 รอบที่ 5 และดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้ สบน. สามารถจัดหาเงินกู้พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ กู้เงิน เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 อย่างเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป
สาระสำคัญ
โครงการฯ ปี 2564 รอบที่ 5 ของ สปสช. เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 สธ. โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอเรื่องโครงการฯ ปี 2564 รอบที่ 5 ของ สปสช. โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุข สำหรับการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด 19 ปี 2564 ที่หน่วยบริการ/สถานพยาบาลได้ให้บริการไปแล้วภายในปีงบประมาณ 2564 อาทิ ค่าบริการตรวจคัดกรอง ค่าบริการรักษาพยาบาล ค่าบริการฉีดวัคซีน และค่าตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันจากการรับวัคซีนโควิด 19 (Vaccine-induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia : VITT)3 |
กลุ่มเป้าหมาย |
หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่จัดบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ให้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศ |
วงเงินและแหล่งเงิน |
20,829.2340 ล้านบาท โดยขอใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการกลุ่มที่ 1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 |
ระยะเวลาดำเนินงาน |
1 เดือน (เดือนตุลาคม 2564) |
ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ |
หน่วยบริการ/สถานพยาบาลได้รับการจ่ายชดเชยค่าบริการตรวจคัดกรอง บริการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ บริการรักษาพยาบาล บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ตามผลการบริการที่เกิดขึ้นจริง |
______________________________
1 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2 เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
3 คือ การเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำที่พบได้หลังจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีการรายงานพบภาวะ VITT ได้หลังการฉีดวัคซีน 2 ชนิดคือ AstraZenaca และ Johnson & Johnson โดยองค์ประกอบของวัคซีนบางส่วนทำให้ร่างกายของผู้ที่ได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาไปกระตุ้นเกล็ดเลือด จนทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ โดยผู้ป่วยจากภาวะดังกล่าวจะมีอาการตั้งแต่มึนศีรษะ ปวดศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน ตามัว แขนขาอ่อนแรง ไปจนถึงมีลิ่มเลือดอุดตันในช่องท้อง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 16 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11676
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ