รายงาน Thailand National Report SDG 6.4
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 13 November 2021 22:38
- Hits: 8342
รายงาน Thailand National Report SDG 6.4
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงาน Thailand National Report SDG 6.4 1 และแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและลดการขาดแคลนน้ำโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ2 (Food and Agriculture Organization of The United Nations: FAO) ได้ประสาน สทนช. ร่วมตรวจสอบข้อมูลติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการขับเคลื่อนและให้มีการทบทวนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายย่อย SDG 6.4 และจัดส่งให้ FAO ปรับฐานข้อมูลการพัฒนาด้านน้ำของประเทศและเผยแพร่ผลงานใน AQUASTAT-FAO’s Global Information System on Water and Agriculture ต่อไป โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สทนช. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านนโยบายในการประสานงานการบริหารจัดการน้ำกับองค์กรระหว่างประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ ได้ประเมินและจัดทำข้อมูลเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 6.4 รอบ 5 ปี (พ.ศ. 2558 – 2562) ประกอบด้วย 2 ตัวชี้วัด ได้แก่
1.1 การประเมินตัวชี้วัด SDG 6.4.1 ประสิทธิภาพการใช้น้ำ (Water-use Efficiency: WUE) โดยประเมินจากปริมาณการใช้น้ำในแต่ละภาคส่วน (ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ) กับมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ของแต่ละภาคส่วน จากการประเมินพบว่า ภาคอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพการใช้น้ำมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคบริการ และภาคเกษตรมีประสิทธิภาพการใช้น้ำน้อยที่สุด และประสิทธิภาพการใช้น้ำโดยรวมตั้งแต่ปี 2558 – 2562 มีแนวโน้มลดลง
1.2 การประเมินตัวชี้วัด SDG 6.4.2 ระดับความตึงเครียดด้านน้ำ (Level of Water Stress) โดยประเมินจากสัดส่วนปริมาณน้ำจืดที่ถูกนำไปใช้ต่อปริมาณน้ำจืดในสาขาหลักต่างๆ รวมทั้งน้ำจืดที่นำกลับมาใช้ใหม่ หักด้วยความต้องการปริมาณการไหลเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยผลการประเมินระดับความตึงเครียดด้านน้ำของประเทศไทยปี 2558 – 2562 มีค่าอยู่ระหว่าง ร้อยละ 9.68 – 12.77 โดยมีค่าต่ำกว่าฐานข้อมูลที่ประเมินไว้ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ร้อยละ 17
2. จากผลการประเมินตัวชี้วัด SDG 6.4.1 และ SDG 6.4.2 ข้างต้น สทนช. ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่สำคัญ ได้แก่ (1) การใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า (2) การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) และลดปริมาณการใช้น้ำภาคเกษตร และ (3) การลดความต้องการใช้น้ำและเพิ่มสัดส่วนการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ โดยมีข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
การดำเนินการ |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
1. กำหนดเกณฑ์การจัดสรรน้ำเพื่อลดระดับความตึงเครียดด้านน้ำและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ตัวชี้วัด |
สทนช. |
|
2. ศึกษาวิเคราะห์การส่งน้ำของโครงการชลประทาน และประเมินประสิทธิภาพการใช้น้ำโครงการชลประทานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำ |
กรมชลประทาน |
|
3. ปรับปรุงข้อมูลการใช้น้ำที่เหมาะสมตามประเภทโรงงานอุตสาหกรรม และส่งเสริมการใช้น้ำซ้ำ การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ |
กรมโรงงานอุตสาหกรรม |
|
4. ติดตามและประเมินน้ำสูญเสียในระบบส่งน้ำและประเมินอัตราการใช้น้ำประเภทต่างๆ |
การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค |
|
5. ศึกษาวิเคราะห์ปริมาณการใช้น้ำใต้ดินเพื่อการเกษตรอุตสาหกรรม อุปโภคบริโภค และพาณิชยกรรม และศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพการเติมน้ำใต้ดินตามธรรมชาติและการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ |
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล |
3. เนื่องจากในการจัดส่งข้อมูลรายงาน Thailand National Report SDG 6.4 จะต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองในระดับประเทศก่อน สทนช. จึงได้นำร่างรายงานฯ เสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ประชุมมีมติ ดังนี้
3.1 เห็นชอบรายงาน Thailand National Report SDG 6.4 เสนอคณะรัฐมนตรีทราบ และให้ สทนช. นำเรียนประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติลงนามในหนังสือนำส่ง FAO ต่อไป
3.2 เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและลดการขาดแคลนน้ำ ตามข้อ 2 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการเสนอคณะกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
_________________
หมายเหตุ : 1SDG 6.4 เป็นเป้าหมายย่อยภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 “จัดให้มีน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค การจัดการน้ำที่ยั่งยืน และสุขาภิบาลสำหรับทุกคน” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและการจัดหาน้ำที่ยั่งยืน รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและลดจำนวนประชาชนที่ประสบความทุกข์จากการขาดแคลนน้ำภายในปี 2573
2องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เป็นองค์การชำนัญพิเศษที่ใหญ่ที่สุดองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติ ซึ่งมีบทบาทในด้านอาหาร เกษตร ป่าไม้ และประมง โดยประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 49 ของ FAO เมื่อเดือนสิงหาคม 2490 ปัจจุบันมีสมาชิก 194 ประเทศทั่วโลก
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11381
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ