สรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนสิงหาคม 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 13 November 2021 22:01
- Hits: 6674
สรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนสิงหาคม 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนสิงหาคม 2564 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
1. สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนสิงหาคม 2564 ดังนี้
ดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนสิงหาคม 2564 กลับมาหดตัวอีกครั้งในรอบ 5 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ การลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดบางชนิดและราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานเริ่มชะลอตัวลง ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
เงินเฟ้อในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.02 (YoY) เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.45 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐโดยเฉพาะการลดค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ประกอบกับราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดบางชนิดมีราคาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้าว เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้สด นอกจากนั้น ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานแม้จะยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนที่ผ่านมา ขณะที่สินค้าอื่นๆ บางชนิดมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะไข่ไก่และเครื่องประกอบอาหาร และสินค้าบางชนิดราคาทรงตัว ซึ่งเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสถานการณ์ส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ปรับลดลง
เงินเฟ้อพื้นฐาน (เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) ขยายตัวร้อยละ 0.07 (YoY) ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.14 เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2564 ลดลงร้อยละ 0.18 (MoM) และเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.- ส.ค.) ปี 2564 สูงขึ้นร้อยละ 0.73 (AOA)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนนี้จะปรับตัวลดลง แต่เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องหลายตัวยังมีสัญญาณที่ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายภายในประเทศและจากการนำเข้ายังคงขยายตัว ภาคการส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ฟื้นตัว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยยังคงขยายตัวได้ดี ซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อและอุปสงค์ในประเทศ นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิต ขยายตัวร้อยละ 4.9 (YOY) จากร้อยละ 5.0 ในเดือนก่อนหน้าและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 8.8 (YOY) จากร้อยละ 7.8 ในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 แต่เชื่อมั่นว่ามาตรการเพิ่มกำลังซื้อ และการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงอุปสงค์จากต่างประเทศที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ
2. แนวโน้มเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2564 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในระดับที่ไม่สูงมากนักโดยมีปัจจัยสำคัญจากการสิ้นสุดมาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ซึ่งสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมนี้ อีกทั้งราคาพลังงานมีแนวโน้มทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยจากการเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ผลิตโลก ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มเริ่มคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารสดและการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐเป็นปัจจัยผันแปรสำคัญที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในเดือนกันยายนได้
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.7-1.7 (ค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 1.2) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ทั้งนี้จะมีการทบทวนอีกครั้งในเดือนกันยายน 2564
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11377
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ