ขอความเห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการรับรองและลงนามในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 13 November 2021 19:21
- Hits: 3238
ขอความเห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการรับรองและลงนามในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการรับรองและลงนามระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 7 ฉบับ ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงคมนาคม (คค.) ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารในข้อ 1 (จำนวน 6 ฉบับ) และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองและลงนามในเอกสารข้อ 2 และเมื่อลงนามแล้วให้ส่งเอกสารดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนแสดงเจตนาการมีผลผูกพันของเอกสารต่อไป ทั้งนี้ให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายสำหรับการลงนามเอกสารในข้อ 2 พร้อมทั้งให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการมอบสัตยาบันสารให้แก่เลขาธิการอาเซียนเพื่อรับทราบการให้สัตยาบันร่างพิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 12 ของบริการขนส่งทางอากาศ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน เมื่อรัฐสภามีมติเห็นชอบเอกสารดังกล่าวแล้วตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญ
กระทรวงคมนาคมขอเสนอเอกสารที่จะมีการรับรองและลงนามระหว่างการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 7 ฉบับ ดังนี้
1. เอกสารที่จะมีการรับรอง จำนวน 6 ฉบับ ดังนี้
1.1 ร่างแนวทางการดำเนินงานสำหรับการพัฒนาการขนส่งในเมืองอย่างยั่งยืนในเมืองภูมิภาคขนาดใหญ่ของอาเซียน เป็นเอกสารแนวทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนาการวางแผนการขนส่งในเมือง อย่างยั่งยืนในเมืองภูมิภาคขนาดใหญ่ของอาเซียน แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ การเริ่มต้นการกำหนดวิสัยทัศน์ การวางแผนปฏิบัติ และการดำเนินการ โดยปรับให้เหมาะสมกับแนวทางปฏิบัติและทรัพยากรในการวางแผนในปัจจุบัน ในแต่ละขั้นตอนแนวทางการดำเนินงานจะให้คำจำกัดความทั่วไป ตัวอย่างบทเรียนที่ได้รับ แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด รวมถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ของกระบวนการวางแผนในบริบทและเงื่อนไขของโครงสร้าง สิ่งแวดล้อม และสังคมที่แตกต่างกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อระบุความท้าทายและภารกิจของเมืองภูมิภาคขนาดใหญ่ในอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกระบวนการวางแผนการขนส่งในเมืองอย่างยั่งยืน และสร้างความตระหนักแก่คณะผู้ดำเนินการ รวมถึงขีดความสามารถที่จำเป็นในการดำเนินกระบวนการวางแผนการขนส่งของเมืองอย่างยั่งยืน
1.2 ร่างชุดเครื่องมือสำหรับการจัดตั้งคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านการขนส่งในเมืองภูมิภาคขนาดใหญ่ของอาเซียน เป็นชุดแนวคิดการวิเคราะห์ที่เกิดขึ้นจากการที่องค์กรและหน่วยงานด้านการขนส่งทั่วอาเซียนเผชิญกับความท้าทายและวิธีแก้ปัญหาทั่วไปที่คล้ายคลึงกัน เพื่อเปรียบเทียบและทำความเข้าใจโครงสร้างการกำกับดูแลที่มีอยู่ รวมถึงโครงสร้างการกำกับดูแลที่อาจมีในอนาคต โดยการระบุลักษณะของโครงสร้างการกำกับดูแลเดิมและการออกแบบโครงสร้างการกำกับดูแลใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อระบุความท้าทายและภารกิจของเมืองภูมิภาคขนาดใหญ่ในอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับชุดเครื่องมือสำหรับการจัดตั้งคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านขนส่งในเมืองภูมิภาคขนาดใหญ่ และสร้างความตระหนักแก่คณะผู้ดำเนินการ รวมถึงขีดความสามารถที่จำเป็นในการจัดตั้งคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านขนส่งในเมืองภูมิภาคขนาดใหญ่
1.3 ร่างปฏิญญาพนมเปญว่าด้วยการขนส่งในเมืองอย่างยั่งยืน เป็นเอกสารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนการพัฒนาระบบการขนส่งภายในเขตเมืองอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สนับสนุนการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ความเท่าเทียมทางสังคม ความปลอดภัย สวัสดิภาพ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และรับรองเอกสาร 2 ฉบับ ตามข้อ 1.1 และ 1.2 ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ให้ประเทศสมาชิกดำเนินการด้วยความสมัครใจ
1.4 ร่างแนวปฏิบัติอาเขียน-ญี่ปุ่น ในการตรวจประเมินมาตรฐานการบริหารจัดการโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ เป็นแนวทางการตรวจประเมินผู้ประกอบการโลจิสติกส์ให้แก่หน่วยงานที่ให้การรับรองมาตรฐานการบริหารจัดการโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิที่แต่ละประเทศในอาเซียนได้พัฒนาขึ้นโดยให้ความสำคัญกับการตรวจประเมินในส่วนของการบริหารจัดการ 1) คลังสินค้า (warehouse) และ 2) การขนส่ง (Transport) ที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้บริการโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิในภูมิภาคอาเซียนมีมาตรฐานและประสิทธิภาพ ซึ่งแนวปฏิบัตินี้อยู่ในรูปแบบสมัครใจ ประเทศในภูมิภาคอาเซียนไม่จำเป็นต้องนำแนวปฏิบัตินี้ไปประยุกต์ใช้ทั้งหมด
1.5 ร่างรายงานผลการศึกษาการทดสอบระบบสาธิตการควบคุมยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเกินด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเอกสารรายงานผลการทดสอบประสิทธิภาพและความแม่นยำของเทคโนโลยีใหม่ของญี่ปุ่น โดยการรับแรงสั่นสะเทือนผ่านเซ็นเซอร์ในแอปพลิเคชันจากโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ Smartphone ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐด้านการควบคุมยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเกินด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า โดยปัจจุบันมาตรการของประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินงานดังกล่าวคือการตั้งสถานี ชั่งน้ำหนักและ Weigh in Motion (WIM) ซึ่งใช้งบประมาณการลงทุนค่อนข้างสูง และยังไม่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่
1.6 ร่างแผนปฏิบัติการ ปี 2564-2568 ของแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการขนส่งอาเซียน-จีน ฉบับปรับปรุง เป็นร่างแผนปฏิบัติการ ระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2564-2568 ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการฉบับที่ 2 (ฉบับที่ 1 ปี 2561-2563) มีโครงการความร่วมมือสำคัญระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับจีนบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างภูมิภาคภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของอาเซียน (KLTSP) และข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง แบ่งออกเป็น 5 หัวข้อหลัก ได้แก่ (1) โครงการความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน (2) โครงการความร่วมมือด้านการขนส่งทางน้ำ (3) โครงการความร่วมมือด้านการอำนวยความสะดวกในการขนส่ง (4) โครงการความร่วมมือด้านฐานข้อมูล และ (5) โครงการความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ได้แก่ โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลงฉบัง เฟส 3 (ท่าเรือ F) และโครงการความร่วมมือการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง
2. เอกสารที่จะมีการรับรองและลงนาม จำนวน 1 ฉบับ คือ ร่างพิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 12 ของบริการขนส่งทางอากาศ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (การลงนามในลักษณะเวียน (ad-referendum) ภายหลังการประชุมฯ) เป็นเอกสารเพื่อยื่นเปิดตลาดการให้บริการคลังสินค้า (Cargo Handling Service) ในท่าอากาศยาน 7 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี และท่าอากาศยานแม่สอด แบบมีเงื่อนไขว่าอนุญาตให้บุคคลสัญชาติอาเซียนถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 อำนาจบริหารกิจการเป็นของบุคคลสัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ดำเนินการสนามบินอนุญาต
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11364
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ