ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 13 November 2021 18:58
- Hits: 3279
ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาตามประเด็นข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย และให้รวมพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเป็นความผิดมูลฐาน) ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็นฉบับเดียวกัน ตลอดจนพิจารณาให้มีความสอดคล้องกับร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ
3. ให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. เสนอว่า
1. ประเทศไทยได้เข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย [Anti - Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism (AML/CFT)] รอบที่ 3 ในประเด็นการวิเคราะห์ระดับความสอดคล้องของกฎหมายและกระบวนการ ตามข้อแนะนำของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (The Financial Action Task Force - FATF) ซึ่งจากรายงานการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลดังกล่าวของประเทศไทย พ.ศ. 2560 พบว่า บทบัญญัติในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 บางประการยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามข้อแนะนำของ FATF เช่น ปัญหาในส่วนของผู้มีหน้าที่รายงานที่ยังกำหนดไม่ครบถ้วนและครอบคลุมประเภทธุรกิจหรือวิชาชีพที่มีความเสี่ยงด้าน AML/CFT รวมถึงมาตรการควบคุมกำกับองค์กรไม่แสวงหากำไร (Non-Profit Organization-NPOs) ซึ่งส่งผลกระทบต่อมาตรการด้านป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
2. โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน จึงมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนเป็นอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การกำหนดความผิดมูลฐานที่ไม่ครอบคลุมและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน (ความผิดเกี่ยวกับการค้าสื่อลามกอนาจารเด็ก ความผิดเกี่ยวกับตลาดทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และกฎหมายว่าด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ความผิดเกี่ยวกับการสมยอมในการเสนอราคา ความผิดเกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด) การกำหนดอำนาจของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานในการควบคุมการขนเงินสดและตราสารเปลี่ยนมือข้ามแดน อำนาจของพนักงานศุลกากรในการยึดเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือตราสารเปลี่ยนมือที่นำเข้ามาในหรือออกไปนอกประเทศ กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าเงินสด หรือตราสารเปลี่ยนมือเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือเกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงมาตรการเกี่ยวกับการดำเนินการกับทรัพย์สินและมาตรการทางอาญาที่ยังมีข้อจำกัดบางประการ และไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่รูปแบบการฟอกเงินมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
3. สำนักงาน ปปง. จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยปรับปรุงมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามข้อแนะนำของ FATF เพื่อการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT และเสร็จสิ้นทันกำหนดระยะเวลา ในการผลักดันให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของ FATF ภายในปี พ.ศ. 2566 และเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเหมาะสมกับสภาพการณ์ ก่อให้เกิดความเป็นธรรม การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล
4. คณะกรรมการ ปปง. ในการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ที่ประชุมได้ มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยมีข้อสังเกตจากผู้แทนกระทรวงการคลังว่าการกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเป็นความผิดมูลฐานนั้น มีความเหมาะสมเพียงใด และกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า ร่างมาตรา 16 การตรวจสอบองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (NGOs) สมาคม มูลนิธิ เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายนั้น ควรตรวจสอบหลักการกำกับดูแล ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตามมติคณะรัฐมนตรี (29 มิถุนายน 2564) เพื่อไม่ให้มีการออกกฎหมายหลายฉบับที่มีหลักการซ้ำซ้อนกันหรือขัดแย้งกัน
5. สำนักงาน ปปง. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯ โดยจัดโครงการสัมมนารับฟังความคิดเห็น จำนวน 4 ครั้ง และรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th) จำนวน 3 ครั้ง พร้อมนำผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาแล้ว ทั้งนี้ ได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย พร้อมทั้งเปิดเผยสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ www.amlo.go.th ตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งได้จัดทำแผนกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองมาด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ปรับปรุงมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ด้าน AML/CFT ตามข้อแนะนำของ FATF และให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันเกิดความเป็นธรรม และเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รายละเอียด ดังนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ความผิดมูลฐาน” โดยกำหนดความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็กอันมีลักษณะเป็นการค้าเป็นความผิดมูลฐาน
2. แก้ไขชื่อหมวด 2 จากเดิม “การรายงานและการแสดงตน” เป็น “การป้องกันการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง”
3. กำหนดหลักเกณฑ์การควบคุมการขนเงินตรา เงินตราต่างประเทศ และตราสารเปลี่ยนมือ ข้ามแดนเพื่อป้องกันการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง และกำหนดหน้าที่และอำนาจของพนักงานศุลกากร
4. กำหนดหน้าที่สมาคม มูลนิธิ และองค์กรไม่แสวงหากำไร รวมถึงหน้าที่ และอำนาจของหน่วยงานในการควบคุมและกำกับดูแลสมาคม มูลนิธิ และองค์กรไม่แสวงหากำไรดังกล่าวเพื่อป้องกันการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
5. กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานสามารถระงับการทำธุรกรรมของลูกค้าในกรณีที่พบว่าธุรกรรมของลูกค้าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินได้ก่อนส่งเรื่องให้สำนักงานดำเนินการต่อไปเพื่อป้องกันการยักย้ายทรัพย์สิน
6. ยกเลิกข้อกำหนดที่ให้ผู้มีหน้าที่รายงานต้องจัดให้พนักงานหรือบุคลากรของผู้มีหน้าที่รายงานต้องเข้ารับการฝึกอบรมและทบทวนความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เนื่องจากข้อกำหนดดังกล่าวถูกนำไปรวมอยู่ในมาตรการควบคุมภายในตามมาตรา 20/1 แล้ว
7. กำหนดหลักเกณฑ์การเก็บรักษารายละเอียดของข้อมูลหรือเอกสารเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า การทำธุรกรรมและการบันทึกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำธุรกรรมและระยะเวลา การเก็บรักษารายละเอียดของข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าว
8. กำหนดอำนาจของคณะกรรมการ ในการออกระเบียบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและวิธีการเบิกจ่าย เพื่อดำเนินการต่างๆ ตามการกิจที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสำนักงานโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
9. กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขอให้เพิกถอนการยึดหรืออายัดและกำหนดระยะเวลา การเก็บรักษาทรัพย์สินก่อนที่จะตกเป็นของกองทุนกรณีที่ไม่มีผู้มาขอรับคืน
10. เพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้เจ้าของที่แท้จริงในทรัพย์สินที่มิได้รู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมให้ทรัพย์สินนั้นถูกใช้หรือครอบครองไว้เพื่อใช้หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินสามารถ ยื่นคำคัดค้านคำร้องของพนักงานอัยการที่ร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
11. กำหนดให้ทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินปลอดจากบรรดาทรัพยสิทธิหรือภาระผูกพันและกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงทะเบียนเพื่อดำเนินการให้เป็น ไปตามคำสั่งของศาล รวมทั้งกำหนดอำนาจศาลในการเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้ามาในคดีในชั้นพิจารณา
12. กำหนดหน้าที่และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สิน ให้มีความชัดเจน และสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจและกำหนดอำนาจให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจสามารถจับกุมหรือควบคุมตัวผู้ที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
13. กำหนดความผิดกรณีใช้ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานของบุคคลอื่นหรือยอมให้บุคคลอื่นใช้ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานของตน หรือเป็นตัวกลางในการจัดหาข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานของบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในการปกปิดตัวตนในการทำธุรกรรม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11340
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ