ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการธุรกิจสาย การบิน ธุรกิจสนับสนุน และบุคลากรการบิน ช่วงวิกฤต COVID-19 ของคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 November 2021 01:49
- Hits: 10335
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการธุรกิจสาย การบิน ธุรกิจสนับสนุน และบุคลากรการบิน ช่วงวิกฤต COVID-19 ของคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการธุรกิจสายการบิน ธุรกิจสนับสนุน และบุคลากรการบินช่วงวิกฤติ COVID-19 ของคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการธุรกิจสายการบิน ธุรกิจสนับสนุน และบุคลากรการบินช่วงวิกฤติ COVID-19 มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการการคมนาคมมีข้อเสนอแนะแบ่งออกเป็น 3 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการย่อยที่ 1 การบริหารจัดการธุรกิจสายการบินช่วงวิกฤติ COVID-19 เกี่ยวกับการทบทวนกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจสายการบิน โครงการย่อยที่ 2 การเตรียมความพร้อมบุคลากรการบินเชิงบูรณาการ มีข้อเสนอด้านนโยบายในระยะเร่งด่วน เช่น ควรกำหนดแนวทางผ่อนผันกฎระเบียบบางอย่างเพื่อช่วยเหลือบุคลากรการบิน และระยะสั้น เช่น การออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่และปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแล และโครงการย่อยที่ 3 โอกาสการพัฒนา ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เกี่ยวกับการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุง และผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้ได้มาตรฐานระดับสากล รวมทั้งส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนอากาศยานที่ผลิตในประเทศ
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ คค. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผล การพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
คค. รายงานว่า ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 ซึ่งเห็นชอบกับข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยสรุปผลการพิจารณาได้ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณา |
|
1. โครงการย่อยที่ 1 การบริหารจัดการธุรกิจสายการบิน ช่วงวิกฤติ COVID-19 |
||
1.1 การทบทวนกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจสายการบิน |
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้มี การทบทวนกฎ ระเบียบต่างๆ เช่น ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 97 ว่าด้วยการอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ และประเภทการทำงานทางอากาศ ซึ่งจะได้นำข้อเสนอแนะดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาต่อไป |
|
1.2 มาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบอย่าง ทันการณ์ ควรขับเคลื่อนนโยบายให้ความช่วยเหลือธุรกิจสายการบินที่สอดคล้องกับความต้องการของสายการบิน โดยเร่งผลักดันสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน (Soft Loan) เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงิรในขณะที่รอการฟื้นตัว ทบทวนการขยายเวลาปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ต่อไปอีก 6 เดือน รวมทั้งควรสนับสนุนสิทธิประโยชน์แก่สายการบิน เพื่อให้สายการบินมีต้นทุนต่ำลง และสามารถแข่งขันกับสายการบินต่างชาติได้ |
กค. ได้สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน (Soft Loan) เพื่อสนับสนุนสายการบินในขณะรอการฟื้นตัว และได้ดำเนินการขยายเวลาลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น ในอัตรา 20 สตางค์ต่อลิตรต่อไปอีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 กรมท่าอากาศยาน - ได้ลดค่าบริการในการในการขึ้นลงของอากาศยาน แก่สายการบินในเชิงพาณิชย์ในอัตราร้อยละ 50 และ ลดค่าบริการที่เก็บอากาศยานแก่สายการบินเฉพาะผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบิน พลเรือนประเภทการขนส่งเพื่อการพาณิชย์ในอัตราร้อยละ 50 เพื่อบรรเทาผลกระทบเบื้อต้น - ได้ขยายเวลาปรับลดอัตราค่าเช่าให้แก่ผู้ประกอบการเช่าพื้นที่ ทั้งภายในและภายนอกอาคารเป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 64 - 30 ก.ย. 64 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีมาตรการช่วยเหลือ ดังนี้ 1. ปรับลดค่าบริการในการขึ้นลงอากาศยานและค่าบริการที่เก็บอากาศยานลงอัตราร้อยละ 50 สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ 2. ยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยานให้แก่สายการบินที่หยุดให้บริการชั่วคราว 3. กรณีเที่ยวบินเช่าเหมาลำให้มีสิทธิเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว รง. (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) ได้กำหนดแนวทางในการเฝ้าระวังการเลิกจ้าง โดยใช้มาตรการด้านแรงงานสัมพันธ์ โดยนายจ้างและลูกจ้างจะปรึกษาหารือร่วมกันก่อนหยุดกิจการตาม ม. 75 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 41 หากจำเป็นต้องเลิกจ้างให้นำมาตรการการลดค่าใช้จ่ายมาตรการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยการเลิกจ้างขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย |
|
1.3 ควรกำหนดแนวทางการปรับตัวและเสริมศักยภาพของสายการบิน นอกเหนือจากต้องดำเนินธุรกิจฝ่าวิกฤติให้อยู่รอดแล้ว รวมทั้งต้องปรับทิศทางเสริมศักยภาพธุรกิจตามวิถีความปกติใหม่ (New Normal) เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือเศรษฐกิจฟื้นตัว |
กพท. ได้ปรับระบบการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสุขอนามัยในระดับสากลเพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 และได้เตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการเมื่อเกิดการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินต่อไป บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริการจัดการท่าอากาศยาน ทั้งนี้ เพื่อให้ท่าอากาศยานและสายการบินสามารถรักษาขีดความสามารถในการให้บริการ และได้เตรียมการรองรับการกลับมาดำเนินงานของธุรกิจต่อไปในอนาคต |
|
2. โครงการย่อยที่ 2 การเตรียมความพร้อมบุคลากรการบินเชิงบูรณาการ |
||
2.1 ข้อเสนอระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย (1) กพท. ควรกำหนดแนวทางผ่อนผันกฎระเบียบบางอย่าง เพื่อช่วยเหลือบุคลากรการบิน |
กพท. ได้ออกประกาศ เรื่อง การยกเว้นมาตรการหรือการดำเนินการเพื่อกำกับดูแลผู้มีใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ในสถานการณ์ที่มีโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 6 เพื่อกำกับดูแลผู้ถือใบอนุญาตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ |
|
(2) กพท. ควรมีมาตรการผลักดันเพื่อช่วยรักษาประสบการณ์ของบุคลากรการบินที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ |
กพท. ได้มีมาตรการผ่อนผันให้นักบินที่มีประสบการณ์การบินให้ใช้เครื่องฝึกบินจำลองทุก 90 วัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน ICAO และนักบินต้องเข้ารับการตรวจสอบ Pilot Proficiency Check ทุก 6 เดือน รวมทั้งได้จัดทำร่างประกาศ/ร่างระเบียบ กำหนดมาตรฐานการตรวจร่างกายนักบินที่ได้รับการรักษาจนหายจากการติดเชื้อ COVID-19 เพื่อให้มีความมั่นใจและพร้อมปฏิบัติหน้าที่ สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรการฝึกอบรมทบทวน เพื่อรักษามาตรฐานและประสิทธิภาพของบุคลากรการบิน |
|
(3) ภาครัฐควรเร่งรัดการออกมาตรการช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของผู้ประกอบการในธุรกิจการบิน |
สถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ ได้ปรับลดค่าตรวจสุขภาพของนักบินและพนังานต้อนรับ รง. (สำนักงานประกันสังคม) ได้ดำเนินการลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนแล้ว |
|
(4) ส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านอื่นให้แก่บุคลากรการบิน เพื่อเปิดโอกาสในการทำงานให้มากขึ้น รวมถึงการจัดฝึกอบรมอาชีพเสริมความต้องการในระหว่างรอการจ้างงาน โดยอาจมีกระบวนการจัดสรรบุคลากรให้ไปประกอบอาชีพด้านอื่นเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ตลอดจนนำความรู้ความสามารถของบุคลากรสร้างศักยภาพแก่ภาคส่วนอื่นได้ |
กพท. ได้มีการส่งเสริมให้เกิดอาชีพใหม่ในอุตสาหกรรมการบิน เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาบุคลากรของ กห. หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติและบุคคลทั่วไป รวมทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของการใช้งานระบบอากาศยานไร้คนขับภายในประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว รง. ได้ดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านอื่นให้แก่บุคลากรการบิน และจัดฝึกอบรมอาชีพเสริมตามความต้องการในระหว่างรอการจ้างงาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ |
|
2.2 ข้อเสนอระยะสั้น ประกอบด้วย (1) กพท. ควรเข้มงวดในการออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่และปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับเกณฑ์การตรวจสอบมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการยอมรับมาตรฐานของบุคลากรระดับนานาชาติ |
กพท. ได้มีการกำกับดูแลการออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานของ ICAO แล้ว และประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ ARISE Plus Civil Aviation Project เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและความร่วมมือระดับภาคในการคมนาคมขนส่งในอาเซียน โดยมีเป้าหมายในการปรับปรุงกฎระเบียบ สร้างกลไกในการอำนวยความสะดวก เสริมสร้างขีดความสามารถในการจัดการจราจรทางอากาศรวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป |
|
(2) ควรมีการจัดตั้งสภาวิชาชีพด้านการบิน โดยเป็นหน่วยงานศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลสำรวจความต้องการแรงงานในธุรกิจการบินทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ |
กพท. และ สบพ. เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ |
|
(3) ควรมีหน่วยงานเพื่อติดตามการวางแผนพัฒนาบุคลากรการบินของประเทศอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงได้ทันเวลา สำหรับหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการบินควรมีการประสานงานระหว่าง ศธ. อว. คค. และผู้ประกอบการในธุรกิจการบินเพื่อให้หลักสูตรตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน |
กพท. ได้มีการประสานงานกับ ศธ. เพื่อพัฒนาหลักสูตร นายช่างภาคพื้นดินและสถาบันฝึกอบรมในช่างภาคพื้นดิน เพื่อให้ได้มาตรฐานและได้รับการรับรองที่ถูกต้องตามกฎหมาย สบพ. ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนระดับ ปวส. ในสาขาวิชาช่างอากาศยานหรือสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบิน และได้พัฒนาหลักสูตร Remotely Piloted Aircraft Controller and Launcher Training Course ร่วมกับ บริษัท โดรนอาคาเดมิค (ไทยแลนด์) เพื่อมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านอากาศยานไร้คนขับหรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ |
|
(4) ส่งเสริมให้เกิดอาชีพใหม่ในอุตสาหกรรมการบิน เช่น นักบินอากาศยานไร้คนขับ รวมถึงส่งเสริมการใช้อากาศยานขนาดเล็กในการทำกิจกรรมด้านต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว การแพทย์ เพื่อเพิ่มอัตราจ้างงานบุคลาการในประเทศ |
กพท. ได้มีการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมการบิน เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้งานอากาศยานไร้คนขับจำนวนมาก เช่น การเกษตร การสำรวจ การป้องกันสาธารณภัย เป็นต้น จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงมาตรฐานด้านความปลอดภัยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง |
|
3. โครงการย่อยที่ 3 โอกาสการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน |
||
3.1 ข้อเสนอแนะด้านนโยบาย ประกอบด้วย (1) ควรพิจารณาปรับแผนยุทธศาสตร์ รวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานและอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน |
กพท. ได้จัดทำแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและการซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทย โดยร่วมกับ สกท. ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย กค. จะส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ในประเภทกิจการผลิตหรือซ่อมอากาศยานหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับยานอวกาศ โดยให้ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรของนำเข้าเพื่อวิจัย ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออกและสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี |
|
(2) กำหนดนโยบายหรือมาตรการให้สิทธิพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้าง |
กค. จะได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการสิทธิพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานและอุตสาหรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานของไทย |
|
(3) ภาครัฐควรมีนโยบายตั้งหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นศูนย์รวมการวิจัยและการพัฒนาทางด้านอากาศยานเป็นศูนย์ทดสอบและรับรองมาตรฐานสากลทางด้านอากาศยานที่มีความจำเป็น |
กพท. ปัจจุบันมีโครงการความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาอากาศยาน และเห็นว่าการจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นศูนย์รวมการวิจัยและการพัฒนาทางด้านอากาศยานนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน เนื่องจาก กพท. มีหน้าที่กำกับดูแลการออกแบบ ผลิต และซ่อม ในขณะที่หน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่ให้บริการหรือสนับสนุนกิจการการออกแบบ ผลิตและซ่อม หากมีการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวขึ้น ดังนั้น การจะเป็นทั้งผู้ตรวจสอบและผู้ให้บริการ อาจก่อให้เกิดการขัดกันของผลประโยชน์ได้ อก. มีสถาบันเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตอากาศยานหลายหน่วยงาน เช่น สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสถาบันไทย-เยอรมัน เป็นต้น ซึ่งสามารถเป็นเครือข่ายกับองค์กรพัฒนาด้านอากาศยานที่จะจัดตั้งขึ้นนี้ได้ |
|
3.2 ด้านกฎหมายและกฎระเบียบ (1) ปรับปรุงข้อบังคับของ คกก. การบินพลเรือน ฉบับที่ 97 ว่าด้วยการอนุญาตประกอบกิจการพลเรือน ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์และประเภทการทำงานทางอากาศ เรื่องเงื่อนไขอายุของอากาศยานสำหรับการรับขนคนโดยสารและสินค้าให้สามารถจดทะเบียนอากาศยานที่มีอายุเกิน 16 ปี และเงื่อนไขของอายุอากาศยานสำหรับการรับขนเฉพาะสินค้าให้สามารถจดทะเบียนอากาศยานที่มีอายุเกิน 22 ปี ได้ |
กพท. ได้มีการปรับปรุงข้อบังคับของ คกก. การบินพลเรือน เป็นฉบับที่ 98 แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ เจตนารมณ์ แนวทางปฏิบัติเชิงนโยบายของ คค. ที่มุ่งเน้นในด้านความปลอดภัยของอากาศยานที่ผู้ได้รับอนุญาตจะนำมาใช้ในการประกอบกิจการการบินพลเรือน |
|
(2) เพิ่มระยะเวลาการให้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 8 ปี เป็น 15 ปี เทียบเท่ากับบางประเทศในภูมิภาคอาเซียน |
กค. เห็นว่า 1. ผู้ประกอบการสามารถขอจัดตั้งเขตปลอดอากรของตนเอง หรือขอประกอบกิจการในเขตปลอดอากรในประเภทที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร 2. ผู้ประกอบการสามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่าน พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 60 และ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 61 โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลไม่เกิน 15 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร |
|
(3) แก้ไขการจัดเก็บอากรกลุ่มอุปกรณ์และเครื่องมือราคาสูงที่มีความจำเป็นในการซ่อมอากาศยานตามคู่มือที่ผู้ผลิตอากาศยานแนะนำให้ใช้ประกอบกับวัสดุเพื่อซ่อมอากาศยาน โดยดำเนินการตาม ม. 12 แห่ง พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 30 ให้ รมว. กค. ออกประกาศเพื่อยกเว้นหรือลดหย่อนอากรกำหนดให้ของที่ได้รับยกเว้นอากรครอบคลุมไปถึงพวกอุปกรณ์หรือเครื่องมือดังกล่าวด้วย (4) สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมการบิน |
กค. เห็นว่า 1. กรมศุลกากรจะได้มีการศึกษาผลกระทบที่อาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในวงกว้างและการจัดเก็บรายได้ของรัฐโดยตรงต่อไป 2. โดยที่เครื่องมือทั่วไป (Generic Tools) เครื่องมือพิเศษ (Special Tools) ที่ใช้ในการซ่อมบำรุงอากาศยานนั้น ไม่ได้มีการระบุไว้ในแบบพิมพ์เขียว (Drawing) จึงไม่ได้รับยกเว้นอากร และได้แจ้งให้กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรมการบินรวบรวมรายการบัญชีของดังกล่าวเสนอเพื่อพิจารณาต่อไป |
|
3.3 ด้านการส่งเสริมการลงทุน (1) พิจารณานโยบายส่งเสริมการลงทุน เช่น เงินสนับสนุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือการพักชำระหนี้ให้กลุ่มอุตสาหกรรมการบิน ทั้งภาคการผลิตและซ่อมบำรุงอากาศยานตามระยะเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์วิกฤติ COVID-19 |
กพท. ได้ดำเนินการขอความอนุเคราะห์จาก กค. และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยในการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งได้สนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านอุตสาหกรรมการบินเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม รง. ได้มีการดำเนินการโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (ตั้งแต่เดือนเมษายน - ธันวาคม 2563) และระยะที่ 2 (ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม - 31 ธันวาคม 2564) แล้ว |
|
(2) นโยบายส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานครบวงจรตามมาตรฐานการซ่อมบำรุงระดับสากลที่มีชิ้นส่วนอะไหล่เพียงพอ การซ่อมมีความรวดเร็ว และควรมีที่ตั้งใกล้กับฐานหลักของสายการบินเพื่อที่จะสามารถแข่งขันราคาได้ |
กพท. พร้อมให้การสนับสนุนการออกใบรับรองหน่วยซ่อมในราชอาณาจักร ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำนโยบายหลายด้าน และจะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปประกอบการพิจารณา สบพ. พร้อมให้การสนับสนุนนโยบายดังกล่าว โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านช่างอากาศยานและด้านช่างผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ รวมทั้งมีการดำเนินงานตามแผนการจัดตั้งศูนย์ฝึก EASA Part-147 Training Organization ในปีงบประมาณ 64-65 เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการฝึกอบรมช่างอากาศยานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการผลิตช่างอากาศยานที่ได้มาตรฐานของศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ที่อู่ตะเภาตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11325
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ