ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 November 2021 01:26
- Hits: 10364
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 โดยมีมติอนุมัติ/เห็นชอบในหลักการข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) จำนวน 2 โครงการ ดังนี้
ลำดับ |
โครงการ |
ข้อเสนอตามมติ คกง.ฯ |
|
1 |
โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ChulaCov19 mRNA เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่สาม และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน |
• อนุมัติโครงการฯ กรอบวงเงินจำนวน 2,316.8 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 • มอบหมายให้จุฬาฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ |
|
2 |
โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (Baiya) |
รับทราบโครงการฯ กรอบวงเงินจำนวน 1,309 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 |
สาระสำคัญของเรื่อง
คกง. รายงานว่า ที่ประชุม คกง. ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 มีมติเกี่ยวกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ดังนี้
1. โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ChulaCov19 mRNA เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่สาม และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินของจุฬาฯ อว.
1.1 สาระสำคัญของโครงการ
รายการ |
รายละเอียด |
(1) วัตถุประสงค์ |
1.1 เพื่อดำเนินการทดสอบวิจัยในอาสาสมัครระยะที่ 3 * ตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยองค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อใช้ในการขึ้นทะเบียน 1.2 เพื่อการผลิตวัคซีนสำหรับทดสอบระยะที่ 3 และเตรียมการผลิตสำหรับขึ้นทะเบียนเพื่อรับการรับรองจาก อย. |
(2) กลุ่มเป้าหมาย |
ประชาชนคนไทยทุกคน |
(3) แผนการบริหารความเสี่ยงของโครงการ |
• การบริหารจัดการเงินกู้ มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการใช้จ่ายเงินกู้ ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อบริหารงบประมาณให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ • การพิจารณาอนุมัติจริยธรรมในกระบวนการวิจัย มีการดำเนินงานเชิงรุกร่วมกับ อย. และคณะกรรมการจริยธรรมร่วมสถาบัน เพื่อลดความล่าช้าในกระบวนการดังกล่าว • การหาอาสาสมัครที่ยังไม่ได้รับวัคซีนให้ครบตามกรอบจำนวนที่กำหนด โดยมีการประสานโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัดให้จัดหาอาสาสมัครให้ อย่างไรก็ดี กรณีที่ไม่สามารถหาอาสาสมัครชาวไทยได้ตามจำนวนที่กำหนด จะมีการประสานนักวิจัยในโรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลต่างประเทศ (อินโดนีเซียและมาเลเซีย) เพื่อจัดหากลุ่มตัวอย่างให้ครบตามจำนวน |
(4) แผนธุรกิจและการตลาด |
จัดทำแผนธุรกิจในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ภายหลังการขึ้นทะเบียนวัคซีนแล้วเสร็จ (ปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน) |
(5) งบประมาณ |
2,316.8 ล้านบาท |
(6) กรอบระยะเวลา |
1 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565) |
(7) ผลประโยชน์ ที่คาดว่าจะได้รับ |
ช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตวัคซีนชนิด mRNA อย่างครบวงจร ทำให้ไทยสามารถผลิตวัคซีนโควิด 19 ใช้ได้เอง และสามารถต่อยอดเทคโนโลยีนี้สู่การผลิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคอื่นๆ รวมถึงโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต |
1.2 มติ คกง.
1.2.1 เห็นควรให้ความเห็นชอบโครงการฯ กรอบวงเงินจำนวน 2,316.8
ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ เห็นควรให้ อว. โดยจุฬาฯ พิจารณากำหนดกลไกการกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
1.2.2 เห็นควรมอบหมายให้จุฬาฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการและดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป
2. โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (Baiya) ของจุฬาฯ อว.
2.1 สาระสำคัญของโครงการ
รายการ |
รายละเอียด |
(1) วัตถุประสงค์ |
เพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 โดยเฉพาะในส่วนของการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 ในอาสาสมัครอย่างน้อย 10,000 คน ตามหลักเกณฑ์ของ อย. โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อให้ไทยสามารถผลิตวัคซีนโควิด 19 ได้ตั้งแต่ต้นน้ำด้วยตัวเอง และวัคซีนที่ผลิตในไทยผ่านการทดสอบในระยะต่างๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ส่งผลให้สามารถฉีดกระตุ้นภูมิให้กับประชาชนคนไทยได้อย่างน้อย 60 ล้านโดสต่อปี |
(2) กลุ่มเป้าหมาย |
อาสาสมัครที่มีสุขภาพดีและไม่มีประวัติได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 มาก่อน จำนวน 10,000 คน |
(3) งบประมาณ |
1,309 ล้านบาท |
(4) กรอบระยะเวลา |
1 ปี 3 เดือน (ตุลาคม 2564 – ธันวาคม 2565) |
(5) ผลประโยชน์ ที่คาดว่าจะได้รับ |
วัคซีนโควิด 19 ที่ผลิตในไทยผ่านการทดสอบในระยะต่างๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล สามารถฉีดกระตุ้นภูมิให้กับประชาชนคนไทยได้อย่างน้อย 60 ล้านโดสต่อปี ซึ่งจะทำให้ไทยมีข้อมูลการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศที่น่าเชื่อถือตามมาตรฐานสากล |
2.2 อย่างไรก็ดี โครงการฯ ที่เสนอในครั้งนี้เป็นการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการทดสอบวัคซีนทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 3 ซึ่งกำหนดแผนการดำเนินงาน/แผนการใช้จ่ายเงินในเดือนพฤษภาคม 2565 ในขณะที่ปัจจุบัน โครงการฯ ยังอยู่ระหว่างการรอผลทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 ดังนั้น จึงเห็นควรรอผลการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ก่อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อกรอบวงเงินกู้ในภาพรวม และลดค่า เสียโอกาสในการดำเนินแผนงาน/โครงการอื่นที่มีความสำคัญและจำเป็นในอนาคต
2.3 มติ คกง.
เห็นควรให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการฯ ของจุฬาฯ ร่วมกับ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กรอบวงเงินจำนวน 1,309 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ภายในประเทศโดยเป็นเงินทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนชนิด Protein Subunit ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมอบหมายให้จุฬาฯ เร่งรัดทำรายงานผลการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 เสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาของ คกง. ตามขั้นตอนต่อไป
___________________________________
* การทดสอบวัคซีนโควิด 19 ในมนุษย์ แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
• ระยะที่ 1 เพื่อศึกษาความปลอดภัยและปริมาณวัคซีนที่ใช้ โดยจะทำการทดสอบวัคซีนในอาสาสมัครจำนวนหลักสิบคน
• ระยะที่ 2 เป็นการขยายการทดสอบในอาสาสมัครจำนวนหลักร้อยถึงหลักพันคน เพื่อยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน
• ระยะที่ 3 เป็นการทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อในอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีน และติดตามอาการอันไม่พึงประสงค์โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo – Controlled Trail) ซึ่งต้องทดสอบในอาสาสมัครจำนวนหลายหมื่นคน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11324
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ