ผลการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 6
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 November 2021 00:54
- Hits: 10181
ผลการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 6
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพการประชุมและมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรี/ผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค จำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ (ยกเว้นรัฐเอกราชปาปัวนิวกินี) โดยในส่วนของประเทศไทย (ไทย) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมประชุม [คณะรัฐมนตรีมีมติ (17 สิงหาคม 2564) เห็นชอบร่างแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปคและร่างแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปคมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างแถลงการณ์และร่างแผนงานดังกล่าว] ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ที่ประชุมได้รับรอง 1) แถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ซึ่งมีสาระสำคัญประกอบด้วย การรับทราบผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีต่อความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชนในภูมิภาคเอเปค โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงอาหารและห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการวางแนวทางในการตอบสนองต่อวิกฤตสุขภาพของโลกและสภาวะเศรษฐกิจ และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและการดำเนินงานที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ 2) แผนงานความมั่นคงอาหารเอเปคมุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 โดยมีการผลักดันประเด็นความมั่นคงอาหาร ได้แก่ (1) เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม มุ่งให้เอเปคเป็นผู้นำระดับโลกในการนำนวัตกรรมมาใช้ในระบบอาหารและผลักดันการทำแผนงานดิจิทัลด้านความมั่นคงอาหาร (2) ผลิตภาพ เน้นการพัฒนาด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพของระบบอาหารในภูมิภาค (3) ความครอบคลุม สนับสนุนการมีส่วนร่วมที่สมดุลโดยคำนึงถึงเพศ ชาติพันธุ์ และอายุ (4) ความยั่งยืน ปรับปรุงประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมของระบบอาหารเอเปค (5) ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน ตระหนักถึงบทบาทของภาคเอกชนที่เป็นศูนย์กลางตลอดห่วงโซ่คุณค่าอาหารและ 6) การกำหนดเป้าหมายที่ชาญฉลาดและการดำเนินการตามแผนงานความมั่นคงอาหารฯ นำเสนอแนวทางมุ่งสู่การจัดการด้านอาหารที่เข้าถึงได้ ความมีอยู่ของอาหาร มีคุณค่าทางโภชนาการ และเพียงพอสำหรับประชาชนในภูมิภาคเอเปค รวมถึงการนำแผนงานไปสู่การปฏิบัติ
2. กษ. พิจารณาแถลงการณ์ และแผนงานความมั่นคงอาหารฯ แล้ว เห็นว่า (1) ไม่มีการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญหรือมีนัยสำคัญที่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และมีผลสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ (2) การประชุมครั้งนี้มีประโยชน์กับการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารของไทย รวมถึง มีความสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียวในภาคเกษตรของไทย นอกจากนี้ การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคเอกชนและองค์การระหว่างประเทศจะช่วยขับเคลื่อนความมั่นคงอาหารและการปฏิรูประบบอาหารของไทยให้ประสบความสำเร็จ
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับนโยบายของไทย ดังนี้
3.1 ไทยให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนการผลิตแบบดั้งเดิมมาเป็นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น โดยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกษตรเชิงพาณิชย์ และการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติเพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูล ด้านการเกษตร และการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมเพื่ออบรมการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตและพัฒนาขีดความสามารถให้แก่เกษตรกร
3.2 ไทยพร้อมนำแผนงานความมั่นคงอาหารฯ มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน ในอีก 10 ปีข้างหน้าและวางเป้าหมายสู่การเป็นครัวของโลก โดยขับเคลื่อนนโยบาย 3 ด้าน ได้แก่ (1) ความปลอดภัยของอาหาร (2) ความมั่นคงของภาคเกษตรและอาหาร และ (3) ความยั่งยืนของภาคเกษตร โดยนำแนวคิดเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนหรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มาขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเกษตรเพื่อมุ่งเน้นการสร้างสมดุลของการผลิตสินค้าเกษตรและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
4. ถ้อยแถลงของสมาชิกเอเปค ประกอบด้วย
ประเทศ |
ถ้อยแถลง |
|
(1) นิวซีแลนด์ |
เพิ่มขีดความสามารถของภาคเกษตรในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อส่งเสริมความมั่นคงอาหารในการฟื้นตัวจากโควิด-19 |
|
(2) สาธารณรัฐเกาหลี |
สนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคเกษตรโดยมุ่งเน้นการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมการเปลี่ยนผ่านสู่การเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ และการกำหนดแนวทางการจัดการห่วงโซ่อุปทานอาหารด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ |
|
(3) แคนาดา |
จัดทำข้อริเริ่มเพื่อสร้างขีดความสามารถของชนพื้นเมืองและชุมชนด้านการเกษตรและระบบอาหาร ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและลดอุปสรรคสำหรับกลุ่มที่ขาดโอกาส |
|
(4) สาธารณรัฐสิงคโปร์ |
ตั้งเป้าหมายการผลิตอาหารให้ได้ร้อยละ 30 ของความต้องการทางโภชนาการในระดับท้องถิ่นภายในปี ค.ศ. 2030 |
|
(5) สหรัฐอเมริกา |
จัดทำข้อริเริ่มเรื่องพันธกิจด้านนวัตกรรมการเกษตรเพื่อสภาพภูมิอากาศและผลักดันงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในระบบเกษตรและอาหาร |
|
(6) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) |
ผลักดันนโยบายการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและจัดทำแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร |
|
(7) เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน |
พัฒนาช่องทางออนไลน์เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างเท่าเทียม |
|
(8) ญี่ปุ่น |
จัดทำยุทธศาสตร์ระบบอาหารสีเขียวเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 |
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้กล่าวถึงการปิดช่องว่างทางดิจิทัลโดยเฉพาะพื้นที่ชนบทและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อต่อสู้กับความหิวโหย ความยากจน และความ เหลื่อมล้ำ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11319
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ