รายงานการประชุมด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาในกรอบสหประชาชาติ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 November 2021 00:47
- Hits: 10009
รายงานการประชุมด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาในกรอบสหประชาชาติ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอรายงานการประชุมด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาในกรอบสหประชาชาติ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
การประชุม |
ผลการประชุม |
|
1. การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 (The 14th United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice: UN Crime Congress) ระหว่างวันที่ 7-12 มีนาคม 2564 ณ นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ซึ่งหัวข้อหลักของการประชุมฯ คือ การส่งเสริมการป้องกันอาชญากรรม ความยุติธรรมทางอาญา และหลักนิติธรรม เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 มกราคม 2563) เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมฯ และให้ ยธ. เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานสำหรับการเข้าร่วมการประชุมฯ] |
1.1 บทบาทของไทยในการประชุมฯ ได้แก่ 1.1.1 การร่วมกล่าวถ้อยแถลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวถ้อยแถลง โดยมีสาระสำคัญ เช่น การนำมาตรฐานสากลมาปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดกรุงเทพ และข้อกำหนดแมนเดลา) การยกระดับด้านการสาธารณสุขภายในเรือนจำ และความท้าทายจากอาชญากรรมรูปแบบใหม่ 1.1.2 การดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการอำนวยการกลาง ปลัด ยธ. (ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ) ได้ลงสมัครและได้รับการรับรองให้ดำรงตำแหน่งรองประธานในคณะกรรมการอำนวยการกลางของการประชุมฯ 1.1.3 การเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เช่น สำนักงานกิจการยุติธรรมเข้าร่วม Workshop ที่ 1 เรื่อง การป้องกันอาชญากรรมโดยอ้างอิงหลักฐานทางสถิติ ตัวชี้วัดและการประเมินผลเพื่อสนับสนุนวิธีปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จ และกรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าร่วม Workshop ที่ 4 เรื่อง แนวโน้มปัญหาอาชญากรรมในปัจจุบันพัฒนาการใหม่ และแนวทางแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีใหม่เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาอาชญากรรม 1.1.4 การจัดกิจกรรมคู่ขนาน ยธ. ได้จัดการประชุมคู่ขนานในนามประเทศ ในหัวข้อ Health Care in Prison : Management during the COVID-19 Pandemic ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการยกระดับในด้านสาธารณสุขภายในเรือนจำ และการนำมาตรฐานและแนวปฏิบัติสากลมาปฏิบัติใช้ ซึ่งมีบริบทของการแพร่ระบาดของ COVID-19 1.1.5 การจัดนิทรรศการ ประเทศไทยร่วมจัดนิทรรศการในรูปแบบทางไกล 2 รายการ ได้แก่ ยธ. จัดนิทรรศการในหัวข้อ Health Care in Detention Facilities : Management during the COVID-19 Pandemic และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) จัดแสดงนิทรรศการในหัวข้อ Advancing Collaborative and Innovative Justice for All 1.2 ที่ประชุมฯ ได้รับรองร่างปฏิญญาเกียวโต (Kyoto Declaration) ว่าด้วยการส่งเสริมการป้องกันอาชญากรรม ความยุติธรรมทางอาญาและหลักนิติธรรม เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 |
|
2. การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 30 (The 30th Commission on Crime Prevention and Criminal Justice: CCPCJ) ระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2564 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีปลัด ยธ. (ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ฯ) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ซึ่งหัวข้ออภิปรายหลักของการ ประชุมฯ คือ มาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและต่อต้านการลักลอบย้าย ผู้อพยพและการปกป้องสิทธิของผู้อพยพที่เป็นเหยื่อ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก รวมถึงเด็กอพยพที่ไร้ผู้ดูแล |
2.1 บทบาทของไทยในการประชุมฯ ได้แก่ 2.1.1 การร่วมกล่าวถ้อยแถลง ปลัด ยธ. (ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ฯ) ได้กล่าวถ้อยแถลง โดยมีสาระสำคัญเป็นการเน้นย้ำถึงผลกระทบของ COVID-19 ต่อกระบวนการยุติธรรมในองค์รวม โดยเฉพาะต่อการบริหารจัดการในเรือนจำและทัณฑสถานการเรียกร้องให้สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติเพิ่มงานวิจัยในเรื่องดังกล่าว รวมถึงการผลักดันร่างข้อมติที่เสนอโดยประเทศไทย จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างข้อมติการบูรณาการกีฬาเพื่อการป้องกันอาชญากรรมและส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญาในกลุ่มเยาวชน (Integrating sport into youth crime prevention and criminal justice strategies) และร่างข้อมติการส่งเสริมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 [Advancing the Criminal Justice System Reform amidst the Coronavirus Disease (COVID-19) Pandemic] 2.1.2 การจัดกิจกรรมคู่ขนาน สำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งความพร้อมในการจัดกิจกรรมคู่ขนานในนามประเทศไทย หัวข้อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อยับยั้งความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 (Ensuring Access to Justice in Response to Violence Against Women and Children under the COVID-19) 2.2 ประเทศไทยได้ร่วมอุปถัมภ์ร่างข้อมมติ จำนวน 2 ฉบับที่เสนอโดยประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ ร่างข้อมติ Fourteenth United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice ซึ่งสรุปภาพรวมการประชุม UN Crime Congress สมัยที่ 14 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ และร่างข้อมติ Reducing reoffending through rehabilitation and reintegration ซึ่งเน้นการลดการกระทำผิดซ้ำและการพัฒนาพฤตินิสัยให้ผู้กระทำผิดกลับมาเข้าสู่สังคมได้ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 พฤศจิกายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11318
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ