ร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 26 October 2021 22:51
- Hits: 14459
ร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรเมื่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ภาคผนวก 5 ว่าด้วยกฎข้อบังคับสำหรับการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่ คค. เสนอ
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่ คค. เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย โดยเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการทิ้งขยะในทะเล กำหนดมาตรการในการควบคุมการทิ้งขยะจากเรือและแท่นให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล และให้เป็นไปตามพันธกรณีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ. 1973 ภาคผนวก 5 ว่าด้วยกฎข้อบังคับสำหรับการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือ (MARPOL Annex V Regulations for the Prevention of Pollution by Garbage from Ships) อันเป็นการป้องกันมิให้เกิดมลพิษและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีมาตรฐานในการควบคุมดูแลการทิ้งขยะลงในทะเลเทียบเท่ากับมาตรฐานระหว่างประเทศ อันส่งผลให้นานาประเทศเกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินการของประเทศไทยอันจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี รวมทั้งเรือไทยย่อมได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่ามีมาตรฐานเพียงพอในการป้องกันการทิ้งหรือการรั่วไหลของขยะจากเรือ ยังส่งผลให้การพาณิชยนาวีของไทยมีการพัฒนาและสามารถขยายกิจการได้มากยิ่งขึ้น
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. เพิ่มส่วน (ฆ/3) ว่าด้วยการทิ้งขยะในทะเล ในหมวดที่ 6 ข้อบังคับเบ็ดเตล็ด ของภาค 1 ข้อบังคับทั่วไป ในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 และกำหนดขอบเขตการบังคับใช้ โดยให้ “ทะเล” หมายถึงทะเลในน่านน้ำไทย โดยขยายครอบคลุมไปถึงทะเลที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะตามประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย โดยยกเว้นไม่นำมาใช้บังคับแก่เรือของทางราชการ หรือเรือที่ใช้ในกิจการของรัฐซึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์
2. กำหนดบทนิยามของ “ทิ้ง” “ขยะ” “เรือไทย” “แท่น” “พื้นที่พิเศษ” “อนุสัญญา” “รัฐภาคี”
3. กำหนดข้อห้ามและเงื่อนไขในการทิ้งขยะ โดยห้ามมิให้มีการทิ้งขยะจากเรือหรือแท่นลงในทะเล เว้นแต่การทิ้งขยะจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โดยได้กำหนดประเภทของขยะที่สามารถทิ้งลงทะเลได้ เช่น การทิ้งอาหารจากเรือลงในทะเลให้กระทำได้ในขณะที่เรืออยู่ระหว่างทางและต้องอยู่ห่างไกลจากเส้นฐาน (Baseline) ออกไปในทะเลในระยะพื้นที่ตามที่กำหนด ส่วนการทิ้งอาหารจากแท่น รวมถึงเรือที่อยู่ติดกับแท่นเรือ หรือเรือที่อยู่ใกล้กับแท่นในระยะไม่เกิน 500 เมตร ให้ทิ้งได้ในระยะไม่น้อยกว่า 12 ไมล์ทะเลขึ้นไป แต่ต้องทิ้งผ่านเครื่องบดปั่นและผ่านตะแกรงที่มีช่องขนาดไม่เกิน 25 มิลลิเมตร
4. กำหนดข้อยกเว้นในการทิ้งขยะเมื่อมีเหตุจำเป็น ได้แก่ การทิ้งเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัยของเรือหรือแท่นหรือความปลอดภัยของผู้ที่อยู่บนเรือหรือแท่น หรือเพื่อช่วยเหลือชีวิตมนุษย์
5. กำหนดหน้าที่ของเจ้าของเรือ ผู้ครอบครองเรือ และนายเรือเจ้าของแท่น ผู้ครอบครองแท่น และผู้จัดการแท่น เช่น จัดทำป้ายประกาศเพื่ออธิบายถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการทิ้งขยะ แผนจัดการขยะ ทั้งนี้ หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเรือหรือแท่นใดมีการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เจ้าท่าจะใช้อำนาจในการตรวจสอบเรือหรือแท่นดังกล่าวได้
6. กำหนดให้กรณีมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อเรือต่างชาติหรือแท่นที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นคนต่างชาติ เจ้าท่ามีหน้าที่ต้องแจ้งให้รัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทราบถึงการฝ่าฝืนกฎหมาย ตลอดจนการดำเนินการใดๆ ของประเทศไทย
7. การวางหลักประกันเพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งห้ามออกเรือ โดยกำหนดให้เจ้าของเรือ ผู้ครอบครองเรือ หรือนายเรืออาจขอให้เจ้าท่ายกเลิกคำสั่งห้ามออกเรือได้ หากเจ้าท่าพิจารณาแล้วเห็นว่าเรือมีอุปกรณ์ เครื่องใช้เกี่ยวกับการจัดการขยะ หรือมีมาตรการในการป้องกันการทิ้งขยะ และได้ดำเนินการแก้ไขหรือจัดการขยะที่รั่วไหลหรือปล่อยทิ้งดังกล่าวแล้ว และยินยอมวางหลักประกันตามที่เจ้าท่ากำหนด เจ้าท่าจึงจะยกเลิกคำสั่งห้ามออกเรือได้
8. การดำเนินคดีกับเรือต่างประเทศแทนรัฐภาคีอื่น โดยกำหนดให้ในกรณีเรือต่างประเทศที่อยู่ภายในทะเลในน่านน้ำไทยได้กระทำความผิดฐานทิ้งขยะในเขตน่านน้ำของรัฐภาคีอื่น และรัฐภาคีซึ่งเป็นรัฐเจ้าของธงเรือหรือรัฐภาคีซึ่งได้รับความเสียหรือได้รับผลกระทบจากการทิ้งขยะของเรือนั้นร้องขอให้รัฐบาลไทยตรวจสอบเรือต่างประเทศดังกล่าว เจ้าท่าย่อมมีอำนาจเข้าตรวจสอบดำเนินคดีกับเรือต่างประเทศแทนรัฐที่ร้องขอนั้นได้
9. กำหนดโทษปรับทางปกครอง ในกรณีที่ทิ้งขยะในเขตเศรษฐกิจจำเพาะตามประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทย และกำหนดโทษทางอาญาในความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล เช่น โทษฐานทิ้งขยะลงทะเลหากเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย เป็นต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
A10864