ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 26 October 2021 22:48
- Hits: 11185
ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. ได้มีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกการซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน พ.ศ. 2550 เพื่อกำหนดแบบหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้ในประเทศเป็นหลักประกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีมีใบตราสารหรือไม่มีใบตราสาร รวมทั้งกำหนดบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย และในปี 2561 กค. ได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะให้อำนาจ กค. สามารถกู้เงินเพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลังได้ โดยใช้ตั๋วเงินคลังเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง
2. ต่อมา ในปี 2563 – 2564 กค. โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านวอลเล็ตสะสมบอนด์มั่งคั่ง (วอลเล็ต สบม.) บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดย กค. เป็นผู้จำหน่ายให้ประชาชนโดยตรง ซึ่งเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับภารกิจของ กค. (MOF Blockchain) ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยวอลเล็ต สบม. เป็นตัวเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงพันธบัตรออมทรัพย์ของประชาชน ให้มีความสะดวก ทั่วถึง อย่างเท่าเทียม และมีจุดเด่นโดยเป็นการตัดตัวกลางในการซื้อขายพันธบัตรออมทรัพย์ออก และเป็นการออกแบบกระบวนงานใหม่ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
3. ดังนั้น เพื่อให้มีกฎหมายที่ครอบคลุมและรองรับกระบวนงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปตามข้อ 1. และ 2. กค. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน พ.ศ. 2550 โดยเป็นการเพิ่มทางเลือกและเปิดโอกาสให้ กค. บริหารจัดการการกู้เงินและตราสารหนี้ภาครัฐได้อย่างคล่องตัว มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความต้องการระดมทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้สภาวการณ์ที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง
4. กค. โดย สบน. ได้ดำเนินการพิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
5. กค. พิจารณาแล้ว เห็นว่าการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมีประโยชน์ ดังนี้
5.1 ประโยชน์ต่อภาครัฐ กค. จะมีความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการกู้เงินและตราสารหนี้ภาครัฐมากยิ่งขึ้น และสามารถยกระดับกระบวนงานออกพันธบัตรทั้งระบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดการลดกระบวนงาน ระยะเวลา และต้นทุนการกู้เงินของภาครัฐ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐในการตอบสนองความต้องการในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินของประชาชนและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งยังสนับสนุนการสร้างสังคมแห่งการออม ลดความเหลื่อมล้ำ และสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีตามนโยบายภาครัฐ
5.2 ประโยชน์ต่อประชาชน เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ด้วยตนเองได้จากทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม และทำให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็ว และมีภาระค่าใช้จ่ายน้อยลงในอนาคต
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออก การซื้อขาย การโอน และการใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน พ.ศ. 2550 ดังนี้
1. กำหนดให้เพิ่ม กค. สามารถทำหน้าที่ตัวแทนการจ่ายเงินสำหรับตราสารหนี้ภาครัฐ และเป็นผู้รับฝากตราสารหนี้ประเภทไร้ใบตราสารได้ (จากเดิมกำหนดให้เฉพาะ ธปท. หรือนิติบุคคลที่ กค. ประกาศกำหนด) รวมทั้งกำหนดให้มีการระบุทะเบียนตราสารหนี้ กรณีตราสารหนี้ประเภทไร้ใบตราสาร เฉพาะชื่อผู้รับฝากตราสารหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ (ร่างข้อ 4)
2. ปรับปรุงคุณสมบัติของนิติบุคคล (จากเดิมเป็น “สถาบันการเงิน”) ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ “บริษัทหลักทรัพย์” สามารถยื่นขอเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ได้ (ร่างข้อ 5)
3. กำหนดเพิ่มวิธีการจัดจำหน่ายตั๋วเงินคงคลังในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้สามารถดำเนินการด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงหรือตกลงราคาได้เช่นเดียวกับวิธีการจำหน่ายพันธบัตร และกำหนดรายละเอียดการจัดจำหน่ายตั๋วเงินคลังโดยวิธีการเสนอประมูลอัตราผลตอบแทนและวิธีการเสนอซื้อไว้ในประกาศหรือหลักเกณฑ์ลำดับรองที่รัฐมนตรีว่าการ กค. ประกาศกำหนด (ร่างข้อ 6)
4. กำหนดประเภทผู้รับเงินของตั๋วเงินคลังและพันธบัตร ให้ครอบคลุมถึง “ผู้รับหลักประกันตามที่ตกลงกัน หรือผู้รับตามที่นายทะเบียนกำหนด” เพื่อความชัดเจนและความสะดวกในการบริหารจัดการการใช้เงินของตัวแทนการจ่ายเงินให้สามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้โดยสะดวกรวดเร็ว (ร่างข้อ 7 – ข้อ 8)
5. กำหนดให้สามารถชำระหนี้ให้กับตราสารหนี้ประเภทมีใบตราสารโดยไม่ต้องนำใบตราสารมาเวนคืน และให้นำหลักการนี้มาใช้กับตราสารหนี้ที่ออกก่อนที่ร่างกฎกระทรวงนี้จะมีผลใช้บังคับด้วย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ถือตราสารหนี้ (ร่างข้อ 8 – ข้อ 10)
6. กำหนดให้ร่างกฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
A10863