การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญา มินามาตะ ว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ในรูปแบบออนไลน์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 26 October 2021 21:10
- Hits: 11439
การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญา มินามาตะ ว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ในรูปแบบออนไลน์
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ในรูปแบบออนไลน์ และเห็นชอบต่อกรอบการเจรจาและท่าทีของประเทศไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 4 ในรูปแบบออนไลน์ ทั้งนี้หากมีข้อเจรจาใดที่นอกเหนือจากกรอบการเจรจาฯ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (legally binding) ต่อประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณา โดยไม่ต้องนำกลับเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่ จนสิ้นสุดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 4 ระหว่างวันที่ 1 - 5 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 48 คน ประกอบด้วย (1) อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หัวหน้าคณะผู้แทนไทย (2) รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้กล่าวข้อเสนอและความเห็นของคณะผู้แทนไทย (3) ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะฯ (4) ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม (5) ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข (6) ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ (7) ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ (8) ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (9) ผู้แทนกระทรวงการคลัง (10) ผู้แทนกระทรวงพลังงาน (11) ผู้แทนสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และ (12) ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อนุมัติองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยด้วยแล้ว
2. กรอบการเจรจา และท่าทีของประเทศไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 4 ระหว่างวันที่ 1-5 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ประกอบด้วย 1) กรอบการเจรจาของประเทศไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 4 ระหว่างวันที่ 1 - 5 พฤศจิกายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์ 2) ประเด็นทรัพยากรและกลไกทางการเงิน 3) ประเด็นการรายงานระดับชาติ 4) ประเด็นการประเมินความมีประสิทธิผล 5) ประเด็นแผนงานและงบประมาณของสำนักเลขาธิการ โดยกรอบการเจรจาฯ ประกอบด้วย (1) สนับสนุนการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักการและจุดมุ่งหมายของอนุสัญญามินามาตะฯ ในการปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อยสู่บรรยากาศ และการปล่อยสู่ดินหรือน้ำของปรอทและสารประกอบปรอทจากกิจกรรมของมนุษย์ (2) คำนึงถึงสภาพการณ์ต่างๆ และความต้องการจําเพาะของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในระดับประเทศด้านการจัดการสารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจร โดยผ่านการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค และทางด้านการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคีต่างๆ (3) คำนึงถึงขีดความสามารถและสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในการดำเนินตามอนุสัญญามินามาตะฯ และสะท้อนหลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน (4) สนับสนุนความร่วมมือและการบูรณาการร่วมกันในการดำเนินงานตามพันธกรณี ข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องที่ประเทศไทยเป็นภาคีและข้อตกลงที่สอดคล้องกับศักยภาพ และขีดความสามารถของประเทศ และ (5) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) รวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและด้านสังคม และแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2555 - 2564) ซึ่งเป็นไปตามหลักการและแนวทางเดียวกันกับกรอบการเจรจาของประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 3 ในปี 2562 ซึ่งผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 และได้ปรับปรุงตามความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ เรียบร้อยแล้ว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
A10856