ผลการประชุม ‘The 13th Inclusive Framework on BEPS’
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 26 October 2021 21:08
- Hits: 6577
ผลการประชุม ‘The 13th Inclusive Framework on BEPS’
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุม “The 13th Inclusive Framework on BEPS” และการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบของข้อเสนอการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (The Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD)) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของการประชุม “The 13th Inclusive Framework on BEPS”
OECD ได้นำเสนอกรอบข้อเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของ OECD ฉบับปรับปรุง (Revised Inclusive Framework Statement) และแผนการนำไปปฏิบัติ (Detailed Implementation Plan) ต่อที่ประชุม “The 13th Inclusive Framework on BEPS” ในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 โดยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้
1. กรอบข้อเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของ OECD ฉบับปรับปรุง (Revised Inclusive Framework Statement) เช่น 1) Pillar 1 หลักการ : การกำหนดหลักการการจัดเก็บภาษาตามมาตรฐานสากลด้วยการจัดเก็บภาษีตามสัดส่วนการปันกำไร (เรียกว่า Amount A) ของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หรือ Multi-National Enterprises (MNEs) มายังประเทศแหล่งเงินได้ โดยกำหนดสัดส่วนของกำไรที่จะต้องแบ่งให้ประเทศที่ผู้ใช้งานอยู่ในการจัดเก็บภาษี โดยพิจารณาจุดเกาะเกี่ยวทางเศรษฐกิจจากยอดรายได้จากประเทศแหล่งเงินได้ โดยแบ่งสัดส่วนการจัดเก็บภาษี (Allocating Taxing Right) ไปยังประเทศผู้ใช้งานร้อยละ 25 ของส่วนกำไรที่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ 2) Pillar 2 หลักการ : การกำหนดให้ธุรกิจมีการเสียภาษีขั้นต่ำ (Minimum Tax) อยู่ที่ร้อยละ 15 โดยหากมีการเสียภาษีในประเทศที่มีบริษัทในเครือไปทำธุรกิจในอัตราต่ำกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ ประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มเติมจากส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีที่เสียและอัตราภาษีขั้นต่ำ
2. ผลการประชุม “The 13th Inclusive Framework on BEPS”
1) OECD ได้แจ้งผลของการประชุมว่า ณ ปัจจุบัน มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 136 ประเทศ จาก 140 ประเทศสมาชิกที่เห็นด้วยหรือไม่คัดค้านต่อกรอบ Revised Inclusive Framework Statement
2) ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 136 ประเทศที่เห็นด้วยหรือไม่คัดค้านต่อกรอบข้อเสนอฯ ดังกล่าว แต่ได้ให้ข้อสังเกตในประเด็นสำคัญ ดังนี้
(1) กลไกการป้องกันและแก้ไขข้อพิพาท (Tax Certainty) เห็นควรมีกลไกหรือกระบวนการให้สรรพากรประเทศที่มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตาม Pillar 1 ต้องไม่กระทบสิทธิในการดำเนินการตามกฎหมายภายในเดิมที่มีการบังคับใช้
(2) เรื่อง Carve Out เห็นควรให้มีการยกเว้นรายได้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมที่มีความสำคัญออกจากการคำนวณอัตราภาษีที่จ่ายจริงภายใต้ Pillar 2 และมาตรการส่งเสริมการลงทุนควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประเทศกำลังพัฒนาที่จะดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
(3) กรอบระยะเวลา (Timeline) ของการนำ Pillar 1 และ Pillar 2 ไปปฏิบัติตามที่ OECD เสนอนั้นมีความท้าทายต่อการนำไปปฏิบัติ เนื่องจากต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ รวมทั้งการจัดทำความตกลงแบบพหุภาคี สำหรับประเทศไทยจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ และมีกระบวนการในการจัดทำความตกลง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ
ทั้งนี้ ทางกระทรวงการคลังขอให้ OECD นำข้อสังเกตไปใช้ในการจัดทำรายละเอียดของข้อเสนอ Pillar 1 และ Pillar 2 ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป
3. สำหรับการดำเนินการขั้นถัดไป OECD แจ้งว่า ในส่วนของการนำ Pillar 1 และ Pillar 2 ไปปฏิบัติจะได้มีการให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการนำไปปฏิบัติ เช่น การให้คำแนะนำเชิงเทคนิค (Technical Assistance) การประชุมสัมมนา e – Learning การให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการตรวจสอบภาษีระหว่างประเทศ (Tax Inspector without Borders : TIWB) เป็นต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
A10855