ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเข้าถึงบทบัญญัติของกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 20 October 2021 01:03
- Hits: 7329
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเข้าถึงบทบัญญัติของกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเข้าถึงบทบัญญัติของกฎหมายตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การเข้าถึงบทบัญญัติของกฎหมายตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ รวม 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1) ประเด็นความคืบหน้าในการออกอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 โดยมีข้อพิจารณาว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่ได้กำหนดสภาพบังคับไว้ กรณีจึงต้องพิจารณาถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการ ไม่ปฏิบัติหรือการปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนตามขั้นตอน กระบวนการ และกลไกต่างๆ ที่กำหนดไว้ 2) ประเด็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านกฎหมายให้กับประชาชน ควรเร่งรัดให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) และ สคก. ดำเนินการจัดทำระบบกลางให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และครอบคลุมการดำเนินการทุกด้านตามพระราชบัญญัติดังกล่าว 3) ประเด็นการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการรับรู้ การเข้าถึง และการเข้าใจกฎหมายให้กับประชาชน ควรมีรูปแบบการนำเสนอต้องสอดคล้องกับเนื้อหาและกลุ่มประชาชน เช่น กลุ่มกฎหมายที่คนพิการควรรู้อาจนำเสนอด้วยสื่อเสียง (สำหรับผู้พิการทางสายตา) 4) ประเด็นการประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายและอนุบัญญัติที่ออกตามกฎหมายนั้น ควรกำหนดให้มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่กำกับ ดูแล และตรวจสอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการแล้วเสร็จ
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วให้มีคำสั่งให้ สคก. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
สคก. ได้ประชุมหารือผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามคำสั่ง รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) แล้ว โดยได้สรุปผลการพิจารณาและผลการดำเนินการในภาพรวม ดังนี้
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณา |
|
1. ความคืบหน้าในการออกอนุบัญญัติตาม พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 62 |
|
|
- มีข้อพิจารณาว่า พ.ร.บ. นี้ไม่ได้กำหนดสภาพบังคับไว้ กรณีจึงต้องพิจารณาถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติหรือการปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนตามขั้นตอน กระบวนการ และกลไกต่างๆ ที่กำหนดไว้ | - สคก. ชี้แจงว่า หน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. ฯ รวมทั้งอนุบัญญัติที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดโดยหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ต้องปฏิบัติหากไม่ปฏิบัติย่อมมีความผิดทางอาญาและทางวินัย ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าควรปลูกฝังให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความเข้าใจที่ถูกต้องในเจตนารมณ์ของกฎหมายอันจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้มาตรการบังคับ ซึ่งที่ผ่านมาการปฏิบัติงานต่างๆ เป็นการทำงานเพียงเพื่อให้ครบถ้วนตามกฎระเบียบและขั้นตอน ทำให้ขาดความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมในการทำงาน และการให้บริการรูปแบบใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพ | |
2. การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านกฎหมายให้กับประชาชน |
|
|
- ควรเร่งรัดให้ สพร. (องค์การมหาชน) และ สคก. ดำเนินการจัดทำระบบกลางให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และครอบคลุมการดำเนินการทุกด้านตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว | - สคก. ชี้แจงผลการดำเนินการว่า ปัจจุบันระบบกลางดำเนินการระยะที่ 1 เสร็จ และเปิดให้บริการแล้ว โดยเป็นส่วนที่เกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็น การวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย สำหรับการดำเนินการในระยะที่ 2 เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลกฎหมายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกนั้น มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. พ.ศ. 65 หลังจากนั้นระบบกลางจะครอบคลุมการดำเนินการทุกด้านตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. ดังกล่าว | |
3. การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการรับรู้ การเข้าถึงและการเข้าใจกฎหมายให้กับประชาชน |
||
- จัดแบ่งกลุ่มของกฎหมายให้เหมาะสมกับกลุ่มประชาชนที่จำเป็นต้องรู้หรือมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้นๆ เช่น กลุ่มกฎหมายพื้นฐานทั่วไปที่ประชาชนทุกกลุ่มควรรู้ กลุ่มกฎหมายที่คนพิการควรรู้ กลุ่มกฎหมายที่เด็กและเยาวชนควรรู้ กลุ่มกฎหมายที่สตรีควรรู้ เป็นต้น - รูปแบบการนำเสนอต้องสอดคล้องกับเนื้อหาและกลุ่มประชาชน เช่น กลุ่มกฎหมายที่คนพิการควรรู้อาจนำเสนอด้วยสื่อเสียง (ผู้พิการทางสายตา) กลุ่มกฎหมายที่เด็กและเยาวชนควรรู้อาจนำเสนอด้วยการ์ตูน แอนิเมชัน (Animation) คลิปวิดีโอ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เป็นต้น |
- สำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) ชี้แจงว่า สกธ. ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านทางหลายช่องทาง โดยเฉพาะทางสื่อ Social media ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต Podcast ที่สอดคล้องตามสถานการณ์ เช่น กลโกงต่างๆ หรือแชร์ลูกโซ่ เป็นต้น เนื่องจากในการสำรวจพบว่า ผู้ถูกโกงส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ดังนั้น การที่จะประชาสัมพันธ์เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ที่มีความแตกต่างทั้งด้านอายุ เพศ การศึกษา และอื่นๆ ให้เข้าถึงสื่อได้ เช่น เด็กและเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชนบท และผู้พิการ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องออกแบบสื่อสร้างการรับรู้ที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนแต่ละกลุ่ม - สพร. เห็นว่า ในการจัดแบ่งกลุ่มกฎหมายให้เหมาะสมอาจใช้วิธีการ คือ (1) ดำเนินการจัดกลุ่มข้อมูลตามหมวดหมู่ของกฎหมายนั้น เช่น สวัสดิการแรงงาน และการขนส่ง และ (2) จัดกลุ่มโดยวิธีการใช้ป้ายคำ (ระบบ tag) เพื่อให้การจัดกลุ่มกฎหมายยืดหยุ่นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ควรดำเนินการใช้ระบบสืบค้นและอ้างอิงให้สามารถแสดงผลการสืบค้นที่เกิดขึ้นบ่อยได้ ทั้งนี้ สพร. ขอรับไปดำเนินการในส่วนของระบบกลางทางกฎหมายต่อไป |
|
4. การประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายและอนุบัญญัติที่ออกตามกฎหมายนั้น |
|
|
- ควรกำหนดให้มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่กำกับดูแล และตรวจสอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการแล้วเสร็จ | - สคก. เป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม และเร่งรัดการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการดำเนินการเกี่ยวกับระบบกลางด้วย ทั้งนี้ ตาม ม. 11 วรรคสาม กำหนดให้ สคก. รับผิดชอบบริหารจัดการระบบกลางดังกล่าว จึงไม่มีความจำเป็นต้องตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวอีก ประกอบกับการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ไม่สอดคล้องกับมติ ครม. วันที่ 24 ก.ค. 50 (เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ) และมติ ครม. วันที่ 1 พ.ค. 61 (เรื่อง การขอจัดตั้งหน่วยงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ) และเป็นการสร้างภาระงบประมาณโดยไม่จำเป็น |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 19 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10642
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ