แนวคิดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 20 October 2021 00:56
- Hits: 6309
แนวคิดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ สำหรับแนวทางการจัดตั้งนิคมฯ และแนวทางการสนับสนุนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นั้น ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นเหมาะสม โดยให้ดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และ ให้ ยธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นหน่วยงานไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ยธ. รายงานว่า
1. ยธ. มีแนวคิด/นโยบายในด้านการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และเป็นการฝึกทักษะอาชีพ พัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน ตลอดจนสร้างผู้พ้นโทษให้เป็นผู้ประกอบการรายใหม่และเป็นการสร้างอาชีพในอนาคต ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้อัตราการกระทำผิดซ้ำลดลงและเป็นการคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือและขับเคลื่อนไปกับภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมและดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนในเขตพื้นที่ที่จัดสรรไว้สำหรับเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มีการบริการสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ และจะมีการส่งแรงงานซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างพักการลงโทษที่ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือและมีความสมัครใจเข้าไปทำงานในสถานประกอบการที่มีความพร้อมในการรับคนเหล่านั้นเข้าไปทำงานหรือร่วมทำงานกับแรงงานทั่วไป ภายใต้ชื่อ “นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์” เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการ
2. เพื่อให้แนวคิด/นโยบายโครงการจัดตั้งนิคมฯ มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ยธ. จึงได้ทำการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมฯ ซึ่งผลจากการศึกษาพบว่า โครงการจัดตั้งนิคมฯ เป็นโครงการที่จะช่วยส่งเสริมแนวคิดการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้พ้นโทษได้ และยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางแรงงานให้แก่ผู้ประกอบการ โดยผลจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และผู้ต้องขัง สนับสนุนให้ดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ผลการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมฯ |
|
วัตถุประสงค์ |
เพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ เพื่อฝึกทักษะอาชีพ พัฒนายกระดับฝีมือแรงงานและสร้าง ผู้พ้นโทษให้เป็นผู้ประกอบการรายใหม่และเป็นการสร้างอาชีพในอนาคตเพื่อลดจำนวนอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขัง |
กลุ่มเป้าหมาย |
ผู้พ้นโทษและผู้อยู่ระหว่างพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษ |
หน่วยดำเนินการ |
ยธ. (กรมราชทัณฑ์) ร่วมกับ การริคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กนอ. และผู้ประกอบการภาคเอกชน โดย กนอ. ทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับดูแลเพื่อให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดตั้งหรือขยายนิคมอุตสาหกรรม |
หน่วยบริหารโครงการ |
ตามผลการศึกษาฯ เห็นว่า ควรดำเนินการในรูปแบบองค์การมหาชน แต่โดยที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน [รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน] ในการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 มีมติไม่เห็นควรให้จัดตั้งองค์การส่งเสริมการกลับคืนสู่สังคม (องค์การมหาชน) ในขณะนี้ เนื่องจากยังต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ แต่โดยที่ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่มีความสำคัญจึงเสนอให้มีการดำเนินการในรูปแบบหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Special Delivery Unit: SDU) ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมเพื่อทดลองการดำเนินการตามแนวคิดดังกล่าว ดังนั้น ในระยะเริ่มต้น ยธ. จะดำเนินการ โดยจัดให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่าง กนอ. ผู้ประกอบการภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาขึ้นเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมในรูปแบบของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษเพื่อรับผิดชอบภารกิจและบริหารจัดการในอนาคต |
พื้นที่นำร่องต้นแบบ |
4 แห่ง 1. เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร (เรือนจำชั่วคราวบางหญ้าแพรก) 2. เรือนจำกลางชลบุรี (เรือนจำชั่วคราวบ้านบึง) 3. เรือนจำกลางสมุทรปราการ (เรือนจำชั่วคราวคลองด่าน) 4. เรือนจำกลางระยอง (เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว) |
รูปแบบ |
3 รูปแบบ ได้แก่ 1. การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภายนอกเรือนจำโดยร่วมกับ กนอ. (ที่ราชพัสดุของหน่วยงานอื่น) โดย ยธ. เป็นผู้จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งอาจดำเนินการในลักษณะของการเช่าที่ราชพัสดุในราคาถูกและนำมาพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและเปิดพื้นที่ให้สถานประกอบการเช่าใช้ประกอบการหรือเปิดเชิญชวนเอกชนผู้สนใจโดยอาจมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจูงใจด้วย ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดพื้นที่บริเวณที่พักอาศัยไว้รองรับให้ผู้กระทำผิดด้วย นอกจากนี้ อาจเปิดเขตพื้นที่พิเศษภายในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาเป็นนิคมฯ เฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว และยังมีพื้นที่ว่างที่ยังเหลืออยู่ โดยให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเพื่อจูงใจในการเข้ามาลงทุนในนิคมฯ 2. การจัดตั้งนิคมฯ ภายในพื้นที่เรือนจำ (ที่ราชพัสดุของกรมราชทัณฑ์) โดย ยธ. จะเป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุจากกรมราชทัณฑ์ในราคาถูกแล้วเชิญชวนเอกชนมาร่วมลงทุน โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนด้านพื้นที่การก่อสร้างอาคาร และพื้นที่พักอาศัยสำหรับดูแลผู้กระทำผิด โดยให้เอกชนลงทุนเครื่องจักร วิธีการผลิต และแหล่งรับซื้อผลิตภัณฑ์หรือหากมีผู้ประกอบการรายใดพร้อมลงทุนทั้งหมดอาจเป็นการร่วมลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ทั้งนี้ จะมีการดำเนินการในลักษณะของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรหรือนิคมอุตสาหกรรมเชิงท่องเที่ยวและสุขภาพ 3. การใช้พื้นที่เอกชนเป็นนิคมฯ จะดำเนินการในลักษณะของการเชิญชวนผู้ประกอบการซึ่งเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเป็นผู้จัดหาที่ดินของเอกชนและพัฒนาเป็นนิคมฯ โดยมีสิทธิประโยชน์จูงใจพิเศษในกรณีที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสดังกล่าว |
บทบาทของ ยธ. |
1. ส่งเสริมและดึงดูดให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้าลงทุนในเขตนิคมฯ ที่จะจัดตั้งขึ้น ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและ กนอ. ในการอนุมัติ อนุญาตหรือการดำเนินการใดๆ ที่เอื้อต่อการประกอบการ 2. เตรียมความพร้อมด้านแรงงานเพื่อป้อนเข้าสู่นิคมฯ โดยเชื่อมต่อกันทั้งระบบตั้งแต่พ้นโทษ ยังมีสถานะเป็นผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำ จนเข้าสู่ระบบการพัฒนาอาชีพในนิคมฯ ภายหลังจากปล่อยตัวไปแล้ว ควบคู่กับระบบการดูแลผู้กระทำผิดหลังปล่อยตัวทั้งระบบ โดยดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้ 2.1 การรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ การคัดกรอง จำแนก แยกกลุ่ม ซึ่งจะดำเนินการ (1) ควบคุมแบบเข้มข้น และ (2) พัฒนาพฤตินิสัยและพัฒนาอาชีพเพื่อวางแผนกำหนดอาชีพและลักษณะงานให้เหมาะสม 2.2 การฝึกงานในศูนย์เตรียมความพร้อมด้านฝึกทักษะการทำงานเป็นเวลา 2 ปี สำหรับผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์จะครบกำหนดปล่อยตัว โดยเป็นผู้ต้องขังชั้นกลางขึ้นไปหรือเหลือโทษจำคุกต่อไปไม่เกิน 7 ปี 2.3 เข้าโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ ด้านการฝึกทักษะการทำงานในนิคมอุตสาหกรรม โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้ (1) ผู้ต้องขังชั้นกลางขึ้นไป เหลือโทษจำคุกต่อไป ไม่เกิน 5 ปี (2) มีคุณสมบัติอื่นตามหลักเกณฑ์พักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษของกรมราชทัณฑ์ ทั้งนี้ สามารถปรับเกณฑ์การเข้าสู่การพิจารณาพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงของผู้ต้องขังในการเข้าร่วมโครงการ 2.4 การทำงานจริงในนิคมอุตสาหกรรม (สถานที่ทำงาน สถานที่พักพิง และที่อยู่อาศัย) เมื่อผู้ต้องขังผ่านการฝึกงานในศูนย์เตรียมความพร้อมฯ เป็นเวลา 2 ปีแล้ว จะได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ 5 ปี และติดอุปกรณ์ควบคุมตัวอิเล็กทรอนิกส์ตามเงื่อนไขการคุมประพฤติ และเข้าไปทำงานในนิคมฯ ที่จัดตั้งขึ้นในพื้นที่นำร่องที่กำหนดเป็นเวลา 5 ปี หากครบกำหนดก็สามารถทำงานต่อกับนิคมฯ ได้ |
แนวทางการดำเนินงาน |
1. การจัดตั้งนิคมฯ จะเป็นการลงทุนร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนเพื่อให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ส่วนการบริหารจัดการองค์กรจะดำเนินการโดยเรียกเก็บค่าบริหารพื้นที่ในระยะยาวโดยใช้การสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้เกิดแรงจูงใจของภาคธุรกิจในการร่วมลงทุน 2. คัดเลือกผู้ประกอบธุรกิจที่เน้นนวัตกรรม แรงงานใช้ฝีมือและรูปแบบธุรกิจที่ทันสมัย โดยจะพิจารณากำหนดค่าจ้างในอัตราก้าวหน้าในลักษณะของการเพิ่มค่าจ้างแรงงานตามระดับทักษะฝีมือและประสบการณ์ในการทำงานได้ 3. อาจใช้พื้นที่การฝึกงานตั้งแต่เป็นผู้ต้องขังภายในแดนควบคุมและจัดพื้นที่นิคมฯ นอกแดนควบคุม และควรมีการจัดหาที่พักอาศัยเป็นที่พักพิงให้แก่ผู้กระทำผิดในระหว่างฝึกงานและทำงานภายในนิคมฯ 4. กรณีที่มีผู้เข้าร่วมมากพอ/เป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยวอาจจัดพื้นที่สำหรับการฝึกอาชีพค้าขายและอาชีพบริการอิสระต่างๆ เพื่อให้บริการภายในนิคมฯ ควบคู่กันเพื่อส่งเสริมทักษะอาชีพด้านการประกอบอาชีพอิสระ และอาจมีการสนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีทุนไปใช้ในการประกอบอาชีพ |
มาตรการและสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน |
กนอ. |
- จัดให้มีและให้บริการสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนควบคุม กำกับดูแล และประสานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของนิคมฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย - จัดหาที่ดินและพัฒนาเพื่อจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม - สนับสนุนและส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบการร่วมทุนและร่วมดำเนินงานที่สามารถรองรับการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป้าหมายของประเทศ - จัดตั้งและพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมเพื่อรองรับและสนับสนุนการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรมตามนโยบายการพัฒนาพื้นที่ของประเทศ - จัดให้มีบริการระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม - ให้บริการอนุมัติ อนุญาต และกำกับดูแลการประกอบกิจการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม - อนุญาตให้ผู้พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจัดตั้งโรงไฟฟ้า SPP (Small Power Producer หรือผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก) หรือแสงอาทิตย์เพื่อจำหน่ายและใช้ในนิคมอุตสาหกรรม โดยได้รับการสนับสุนนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการรับซื้อคืน การเดินสายส่งไฟฟ้า และการจัดให้มีระบบไฟฟ้าสำรองในกรณีฉุกเฉินในราคาปกติ และได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ - จัดให้มีเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการจัดตั้งเขตปลอดอากร - จัดให้มีสถานีรถไฟหรือท่าเทียบเรือเพื่อการขนส่งหรือขนถ่ายสินค้าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือพื้นที่ใกล้เคียง - จัดให้มีพื้นที่อยู่อาศัยของคนงานและครอบครัว โดยเสียค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า (มีส่วนลด) - ยกเว้นค่าใช้จ่ายร่วมดำเนินงานนิคมอุตสาหกรรมให้แก่ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม เช่น ค่าธรรมเนียมและบริการร่วมดำเนินงาน เป็นต้น - ให้การสนับสนุนการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดให้เป็นพื้นที่สีม่วง โดยให้ มท. (กรมโยธาธิการและผังเมือง) เร่งรัดขั้นตอนการดำเนินงานตามกฎหมายผังเมืองเป็นกรณีพิเศษ เพื่อลดระยะเวลาในการใช้พื้นที่เป็นที่ก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม - ยกเว้นภาษีส่วนบุคคลให้แก่แรงงานในโครงการที่เป็นผู้พ้นโทษเป็นระยะเวลา 3 ปี - จัดหาพื้นที่เพื่อเป็นการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรม SMEs ในการเช่าพื้นที่หรือเช่าอาคารและสามารถซื้อพื้นที่หรืออาคารได้ในภายหลัง และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยถูก - พิจารณาสิทธิประโยชน์โดยไม่จำกัดประเภทกิจการแก่ผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป/เขตประกอบการเสรี แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ถ้ามี) และผังเมืองรวมจังหวัด - ให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในเขตพาณิชยกรรมและคนงานในนิคมฯ ในการยกเว้น/ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการเข้าถึงสินเชื่อบุคคลดอกเบี้ยต่ำ |
|
งบประมาณและภาระ ทางการเงิน |
ยธ. ไม่มีอำนาจจัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินแก่ภาครัฐ แต่ ยธ. ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาและส่งผู้ที่ได้รับการพักการลงโทษเข้าไปทำงานในสถานประกอบการให้ได้จำนวน 16,000 คน/ปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ภาครัฐจะต้องใช้ในการดูแลผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ เฉลี่ย 21,000 บาท/คน/ปี จะทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณที่ใช้ดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำประมาณ 336 ล้านบาท/ปี |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 19 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10641
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ