ผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 20 October 2021 00:06
- Hits: 7069
ผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT)
2. เห็นชอบการมอบหมายหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 และผลการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT และหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงาน IMT-GT ผ่านระบบ การประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การพิจารณารายงานของที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 28 ที่ประชุมได้รับทราบและเห็นชอบรายงานการประชุมฯ ซึ่งมีผลการดำเนินงาน เช่น
1.1 การดำเนินงานภายใต้แผนงาน IMT-GT มีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในอนุภูมิภาค อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่ ปี 2563-ปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะอัตราการว่างงานและความยากจนสูงขึ้นในอนุภูมิภาค อีกทั้งการดำเนินงานภายใต้แผนงาน IMT-GT ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น การเลื่อน การดำเนินโครงการ ข้อจำกัดด้านงบประมาณ การปิดพรมแดน และการบังคับใช้มาตรการด้านสาธารณสุข
1.2 ความคืบหน้าในการขับเคลื่อนโครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects: PCPs) เพื่อมุ่งให้เกิดการบูรณาการและความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค มูลค่า รวม 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 14 โครงการ ในส่วนของประเทศไทย ได้แก่ โครงการขยายท่อากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ระยะสั้นจังหวัดสงขลา ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จ
1.3 ความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการใน 7 สาขาความร่วมมือภายใต้แผนงาน IMT-GT โดยมีโครงการที่สำคัญ เช่น (1) กรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ด้านการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรค พืช และสัตว์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสินค้าและบุคคลซึ่งมีกำหนดลงนามในช่วงการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 13 แผนงาน IMT-GT ในเดือนตุลาคม 2564 (2) โครงการฐานข้อมูลตลาดแรงงานใน IMT-GT และ (3) โครงการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของ IMT-GT
1.4 การดำเนินการในระยะต่อไป เช่น (1) การยกร่างแผนดำเนินงานระยะห้าปี พ.ศ. 2565-2569 (Implementation Blueprint 2022-2026: IB 2022-2026 ให้แล้วเสร็จ (2) การแสวงหาหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาใหม่และกระชับความร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเดิม และ (3) การพัฒนาโครงการการค้าและการลงทุนตามแนวทางกรอบความร่วมมือด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรค พืช และสัตว์
1.5 ความเห็นของที่ประชุม IMT-GT เช่น (1) เน้นย้ำความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค เพื่อรับมือผลกระทบจากโควิด-19 (2) สนับสนุนการขยายพื้นที่แผนงาน IMT-GT ให้ครอบคลุมทั้งคาบสมุทรมลายู รวมทั้งการพิจารณารับสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐอินเดียในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของแผนงาน IMT-GT และ (3) สนับสนุนความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจาก โควิด-19 โดยมีโครงการ Phuket Sandbox ของไทยเป็นต้นแบบ
2. การพิจารณารายงานของที่ประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 18 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบรายงานการประชุม สรุปสาระสำคัญ เช่น
2.1 ความคืบหน้าของโครงการความร่วมมือภายใต้แผนงาน IMT-GT ที่เกี่ยวกับกรอบการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด เช่น กรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (Sustainable Urban Development Framework: SUDF) และสภาเทศมนตรีสีเขียว รวมทั้ง สนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละประเทศและการมีส่วนร่วมของรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อน IMT-GT
2.2 ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ได้แก่
2.2.1 อินโดนีเซีย สนับสนุนการพัฒนาความเชื่อมโยงและแหล่งท่องเที่ยวในหลายจังหวัด เช่น การพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของสุมาตราเหนือ การพัฒนโครงสร้างพื้นฐานของสุมาตราตะวันตก และการพัฒนาทำเรือและนิคมอุตสาหกรรมเรียว รวมทั้งอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนข้อริเริ่มเมืองสีเขียวในเมืองบาตัมและได้เสนอโครงการใหม่ เช่น การเสริมสร้างศักยภาพในอุตสาหกรรมฮาลาลและการพัฒนาระเบียงการท่องเที่ยว
2.2.2 มาเลเซีย นำเสนอโครงการที่ให้ความสำคัญ เช่น โครงการชูปิงแวลลีย์ การพัฒนาพื้นที่ต็อกบาหลี เมืองสีเขียวโกตาบารู และการก่อสร้างสนามบินโกตาบารูและสะพนโกตาบารู-ปาเล็คบัง รวมถึงการพัฒนาแผนการขนส่งสีเขียวลังกาวี เขตเศรษฐกิจริมน้ำมะละกา และโครงการอิโปห์เมืองอัจฉริยะ
2.2.3 ไทย อยู่ระหว่างการดำเนินการโครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ การก่อสร้าง ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานีและนราธิวาส โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้อศรีวิชัย และโครงการอุทยานธรณีสตูล โดยเสนอโครงการใหม่ ได้แก่ ความเชื่อมโยงทางรางระหว่างสุไหงโกลก-รันเตาปันยัง-ตุมปัต
3. การประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT อย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 7 โดยที่ประชุมได้รับทราบการจัดทำ IB 2022-2026 ที่เนันย้ำถึงโครงการที่เป็นรูปธรรมและแสดงความยืนยันที่จะพัฒนาความร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชียและสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อขยายขอบเขตสาขาความร่วมมือของ IMT-GT รวมทั้งได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินงานภายใต้ SUDF ที่ตระหนักถึงความเร่งด่วนของภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศและการฟื้นฟูจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก การประหยัดพลังงาน การจัดการของเสีย และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน รวมทั้งให้ความสำคัญกับ การมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนเพื่อดึงดูดการลงทุนสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4. การเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างอุทยานธรณีโลกลังกาวี (มาเลเซีย) อุทยานธรณีโลกสตูล (ไทย) และอุทยานธรณีโลกทะเลสาบโตบา (อินโดนีเชีย) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีของทั้งสามประเทศโดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกันภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ เช่น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีในการปกป้องมรดกธรณีและการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาอุทยานธรณี
5. ข้อเสนอฝ่ายไทยในที่ประชุมฯ รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ของไทยได้ผลักดันประเด็นต่างๆ เช่น (1) สร้างความร่วมมือเพื่อรับมือความท้าทายผลกระทบของโควิด-19 (2) เร่งรัดการลงทุนใน PCPs เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงตามแนวระเบียงเศรษฐกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพและรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 และ (3) สนับสนุนให้มีเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการภายใต้แผนงาน IMT-GT มากยิ่งขึ้น โดยไทยเสนอการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเพื่อสนับสนุนโครงการเมืองสีเขียว เมืองอัจฉริยะ และสาธารณสุข
6. แถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 ที่ประชุมได้เห็นชอบแถลงการณ์ ร่วมฯ โดยมีเนื้อหาและสาระสำคัญตามร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (3 สิงหาคม 2564) เห็นชอบ
7. การประชุมครั้งต่อไป ที่ประชุมได้เห็นชอบมาเลเซียเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำแผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 13 ซึ่งเป็นการประชุมคู่ขนานกับการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 39 ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 และเห็นชอบให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แผนงาน IMT-GT ในปี 2565 ณ จังหวัดภูเก็ตหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง
8. สศช. เห็นว่า ความร่วมมือภายใต้แผนงาน IMT-GT เป็นกรอบยุทธศาสตร์การดำเนินงานซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และลดความเหสื่อมล้ำในพื้นที่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกันระหว่างอนุภูมิภาคและภายในประเทศ และเป็นกรอบในการจัดสรรงบประมาณและการดำเนินโครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมีการมอบหมายภารกิจ การติดตามประเมินผล และการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานที่ขับเคลื่อนแผนงาน IMT-GT ทุกระดับ ดังนั้น จึงเห็นควรมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมผลักดันการขับเคลื่อนและการบูรณาการกิจกรรมต่างๆ การจัดทำ IB 2022-2026 การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และ การดึงดูดการลงทุนสีเขียว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 19 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10633
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ