ร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 3
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 19 October 2021 23:47
- Hits: 6404
ร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 3
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 3 (3rd Mekong – ROK Summit Joint Statement) ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และให้นายกรัฐมนตรี หรือผู้ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรอง โดยไม่มีการลงนามร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้
1. แสดงเจตนารมณ์อันต่อเนื่องของประเทศสมาชิกในการส่งเสริมความร่วมมือของ Mekong – ROK ในสาขาความร่วมมือทั้ง 7 สาขา ซึ่งสอดรับกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy: NSP) และนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส (New Southern Policy Plus: NSPP) ของสาธารณรัฐเกาหลี และรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานที่สำคัญในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2564 ภายใต้แผนปฏิบัติการกรอบความร่วมมือฯ ฉบับที่ 3 (ค.ศ. 2021 – 2025)
2. แม้จะมีความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมของผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ประเทศสมาชิกยืนยันพันธกรณีและความตั้งใจที่จะร่วมมือกันเพิ่มยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ การแพร่ระบาดฯ ทั้งในมิติด้านสาธารณสุขและด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากนโยบาย Green New Deal และ Digital New Deal ของสาธารณรัฐเกาหลี รวมถึงการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy Model: BCG) ของไทย
3. ชื่นชมบทบาทด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของสาธารณรัฐเกาหลีในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance: ODA) และกองทุน MKCF
4. ย้ำบทบาทของภาคเอกชนในการสนับสนุนความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคฯ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ และการประชุมภาคธุรกิจลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี (Mekong – ROK Business Forum) ครั้งที่ 9 ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ที่ราชอาณาจักรกัมพูชา จะเป็นโอกาสอันดีสำหรับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของประเทศสมาชิก
5. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ภายใต้ปีแห่งการแลกเปลี่ยนของกรอบความร่วมมือ ลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ค.ศ. 2021 (Mekong – ROK Exchange Year 2021) และยินดีต่อการขยายระยะเวลาของปีดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงปี 2565
6. สนับสนุนการสอดประสานระหว่าง Mekong – ROK กับอาเซียน และกรอบความร่วมมืออื่นๆ ในภูมิภาคและอนุภูมิภาคฯ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งมีลักษณะพิเศษของการเป็นกรอบความร่วมมือที่มีประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นสมาชิกเท่านั้น โดยสาธารณรัฐเกาหลีได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ ACMECS ในปี 2563 และพร้อมจะมีความร่วมมือที่จะใกล้ชิดกับ ACMECS ในโครงการความร่วมมือที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสาธารณรัฐเกาหลี
ทั้งนี้ การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 3 จะมีขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลีและนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นประธานร่วม และที่ประชุมดังกล่าวจะรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม คือ ร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 3 (3rd Mekong – ROK Summit Joint Statement) ซึ่งย้ำเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกในการขับเคลื่อน Mekong – ROK ให้ตอบโจทย์การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 19 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10628
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ