การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 16 (CMP 16) การประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส สมัยที่ 3 (CMA 3) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 19 October 2021 23:36
- Hits: 6314
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 16 (CMP 16) การประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส สมัยที่ 3 (CMA 3) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจำปี พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกรอบท่าทีเจรจาของไทยที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก รวมทั้งรับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 16 (CMP 16) การประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส สมัยที่ 3 (CMA 3) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมกรอบอนุสัญญาฯ ประจำปี พ.ศ. 2564 มีเนื้อหาครอบคลุมหลักการภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ เช่น ความเป็นธรรมและความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละประเทศ เน้นย้ำให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้การจัดทำและการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) อยู่ภายใต้หลักการของกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส การกำหนดนโยบายหรือมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การค้าและสังคมของประเทศกำลังพัฒนา ส่งเสริมบทบาทของภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งในด้านการกักเก็บคาร์บอนและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกำหนดแนวทางและกลไกความร่วมมือเกี่ยวกับกลไกตลาดและไม่ใช้ตลาดต้องมีความยืดหยุ่นไม่เป็นภาระเพิ่มเติม และคำนึงถึงประสบการณ์จากกลไกที่มีอยู่เดิม ต้องการให้มีการยกระดับการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพต่อการดำเนินงานด้านการปรับตัวฯ ของประเทศกำลังพัฒนาให้มีการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ การวิจัย การเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และเสริมสร้างศักยภาพในภาคเกษตรเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำและยกระดับการสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวฯ อย่างเพียงพอ สมดุล และต่อเนื่อง สนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีสโดยควรเชื่อมโยงกับกลไกทางการเงิน ให้มีการยกระดับศักยภาพของบุคลากร สถาบันและระบบในประเทศกำสังพัฒนาอย่างบูรณาการและยั่งยืน การกำหนดรายละเอียดของกรอบความโปร่งใสในการดำเนินงานและการสนับสนุนต้องมีความยืดหยุ่นและคำนึงถึงศักยภาพที่แตกต่างกันของประเทศกำลังพัฒนา และประเทศไทยพร้อมจะเป็นประเทศที่ให้ และ/หรือ ประสานความช่วยเหลือหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปยังประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เป็นต้น ในการนี้ หากมีข้อเจรจาใดที่นอกเหนือจากนี้ หากไม่เป็นการขัดกับท่าที่การเจรจาของไทยและไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทน ทั้งนี้ กรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมกรอบอนุสัญญาฯ ประจำปี พ.ศ. 2564 เป็นไปตามหลักการของกรอบอนุสัญญาฯ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนของประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไม่ขัดกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 19 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10625
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ