โครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 12 October 2021 21:15
- Hits: 8683
โครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan (โครงการฯ) ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น กรอบวงเงินจำนวน 575 ล้านบาท นั้น ให้ ธสน. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. กค. (ธสน.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการค้าระหว่างประเทศที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบกับเพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ (S/M/L) ที่อยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S - Curve) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังไม่คลี่คลาย รวมทั้งเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์ดังกล่าวด้วยต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ กค. จึงเสนอโครงการฯ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ภายใต้มาตรการการเงินการคลัง เพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 โดยมีสาระสำคัญของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ สรุปได้ ดังนี้
หลักเกณฑ์/เงื่อนไข |
รายละเอียด |
|
วัตถุประสงค์ |
เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และต้องการปรับปรุงเครื่องจักรหรือลงทุนในเครื่องจักรใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการที่เริ่มฟื้นตัวให้กลับมาประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องด้วยต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ |
|
กลุ่มเป้าหมาย |
ผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ (S/M/L) ที่อยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S - Curve) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) เป็นต้น |
|
วงเงินโครงการ |
5,000 ล้านบาท |
|
วงเงินอนุมัติสินเชื่อสูงสุดต่อราย |
ไม่เกิน 100 ล้านบาท |
|
ระยะเวลาโครงการ |
1) ระยะเวลาอนุมัติวงเงิน : นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 2) ระยะเวลาการให้กู้ยืม : ไม่เกิน 7 ปี |
|
อัตราดอกเบี้ยต่อปี |
ปีที่ 1 - 2 : อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2 ปีที่ 3 - 5 : อัตราดอกเบี้ย Prime Rate - ร้อยละ 2 ปีที่ 6 - 7 : อัตราดอกเบี้ย Prime Rate (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 อัตราดอกเบี้ย Prime Rate อยู่ที่ร้อยละ 5.75) |
|
หลักประกัน |
พิจารณาความเหมาะสมตามความเสี่ยงของผู้กู้และโครงการ เช่น หลักประกันทางธุรกิจ เป็นต้น |
|
วงเงินงบประมาณที่รัฐบาลชดเชย |
ธสน. ขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างดอกเบี้ยรับในอัตราปกติ และดอกเบี้ยรับภายใต้โครงการฯ ที่เกิดขึ้นให้แก่ ธสน. เป็นจำนวนทั้งสิ้น 575 ล้านบาท รวมทั้งให้ ธสน. แยกบัญชีการดำเนินโครงการฯ เป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA) |
|
หมายเหตุ : เงื่อนไขอื่นๆ ให้เป็นไปตามที่ ธสน. กำหนด |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 12 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10411
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ