ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง Quick Win และ Big Rock ของส่วนราชการในการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ของคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 12 October 2021 20:54
- Hits: 6731
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง Quick Win และ Big Rock ของส่วนราชการในการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ของคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง Quick Win และ Big Rock ของส่วนราชการในการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ของคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง Quick Win และ Big Rock ของส่วนราชการในการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินของคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาศึกษา ในการปฏิรูปของส่วนราชการ พบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการงาน การบริหารจัดการเงิน การบริหารจัดการคนและด้านอื่นๆ โดยมีข้อเสนอแนะ สรุปได้ดังนี้ (1) ควรมีหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบเรื่องการจัดทำและใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยเสนอให้ ดศ. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการ Big Data ของภาครัฐ (2) ควรให้ฝ่ายบริหารดำเนินการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่ส่วนราชการแต่ละแห่งให้เหมาะสม โดยควรคำนึงถึงแผนงานที่มีความจำเป็นเร่งด่วน (Quick Win) และแผนงานที่มีผลกระทบต่อประชาชน (Big Rock) เป็นสำคัญก่อน (3) ควรดำเนินการ ทบทวน และรับฟังความคิดเห็นของส่วนราชการเพื่อดำเนินการพิจารณาโครงสร้างของแต่ละส่วนราชการ โดยพิจารณาจากหน้าที่และอำนาจ เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการ เป็นต้น
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่ง ให้ ดศ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ดศ. เสนอว่าได้ร่วมพิจารณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 แล้ว ซึ่งเห็นด้วยกับรายงานการพิจารณาศึกษาและข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยสรุปผลการพิจารณาได้ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณาดำเนินการ |
|
1. ควรให้ ดศ. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการ Big Data ของภาครัฐ |
ดศ. ได้ร่วมดำเนินการกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ในการบริหารจัดการ Big Data ของภาครัฐในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการBig Data พัฒนาและส่งเสริมให้เกิดระบบรัฐบาลดิจิทัล รวมถึงการบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยง และใช้ประโยชน์โดยเฉพาะภารกิจเกี่ยวกับบริการสำคัญ (High Impact) ให้แก่ประชาชน เช่น ด้านสาธารณสุข การมีรายได้ การเกษตร และการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยทุกหน่วยงานภาครัฐจะต้องร่วมดำเนินการพัฒนาไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. การบริหารงาน และการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 |
|
2. ควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่ส่วนราชการแต่ละแห่งให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงแผนงาน ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน (Quick Win) และแผนงานที่มีผลกระทบต่อประชาชน (Big Rock) เป็นสำคัญก่อน |
เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะ |
|
3. ควรให้ กค. พิจารณาทบทวนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดความคล่องตัว สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศ |
กค. โดยกรมบัญชีกลาง ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง อาทิ (1) การแก้ไขปัญหาการอุทธรณ์ มีการกำหนดแนวทางเพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐเป็นไปด้วยความรวดเร็ว รวมถึงกำหนดแนวทางให้หน่วยงานของรัฐกำหนด TOR ให้ชัดเจนเพื่อมิให้เกิดการอุทธรณ์ (2) การแก้ไขปัญหาประสิทธิภาพจากการทำงานผู้รับจ้างตามสัญญามีแนวทางปฏิบัติการดำเนินการภายหลังหน่วยงานของรัฐบอกเลิกสัญญาซื้อหรือจ้างตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และ (3) การแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเสนอราคาด้วยระบบ e - bidding โดยคณะกรรมการราคากลาง และขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการได้มีการออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการงานก่อสร้างที่มีสิทธิเป็นผู้ยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหากรณีการเสนอราคาด้วยระบบ e - bidding เป็นต้น |
|
4. ควรพิจารณาอัตรากำลังของแต่ละส่วนราชการให้สอดคล้องและเหมาะสมกับภารกิจงานของแต่ละหน่วย รวมถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลประโยชน์พร้อมประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อประเทศชาติอย่างสูงสุด |
มีความจำเป็นต้องอาศัยการประสานร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐซึ่งเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก และนโยบายด้านการบริหารที่ชัดเจน หากมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ รวมถึงการตัดโอนกำลังคนระหว่างหน่วยงานควรต้องปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการใช้อัตรากำลังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น |
|
5. ควรพิจารณาโครงสร้างของแต่ละส่วนราชการ โดยพิจารณาจากหน้าที่และอำนาจ เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการ |
ทุกกระทรวงได้กำหนดโครงการที่ควรเร่งรัดดำเนินการ (Quick Win) หรือแผนงานที่เหมาะสมสำหรับดำเนินการจัดเป็นโครงการที่สำคัญ อันมีผลกระทบต่อประชาชนและต้องดำเนินการเร่งรัดโดยด่วน (Big Rock) แล้ว |
|
6. ควรประเมินผลสัมฤทธิ์ของ กม. ที่ใช้บังคับในปัจจุบันว่าเหมาะสมแก่บริบทของสังคม รวมถึงกาลสมัย หรือไม่ ประการใด |
ดศ. ได้มีการจัดทำประกาศ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทสังคมแล้ว เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 รวมถึงกฎหมายอื่น และมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชน |
|
7. ควรดำเนินการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ เช่น (1) จัดอบรมให้กับบุคลากรภาครัฐทุกคนทุกหน่วยงาน ให้เข้าใจถึงการปฏิรูปประเทศว่ามีความแตกต่างอย่างไรกับงานประจำที่ต้องทำอย่างไร (2) เปลี่ยนความคิด (Mindset) ของเจ้าหน้าที่ทุกคนในแต่ละหน่วยงานให้เข้าใจถึงการปฏิรูปประเทศ ในรูปแบบเดียวกัน (3) ประชาสัมพันธ์และอธิบายเรื่องการปฏิรูปประเทศในรูปแบบสื่อต่างๆ เช่น สื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น |
ทุกหน่วยงานมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงการปฏิรูปประเทศว่ามีความแตกต่างอย่างไรกับงานประจำ และให้แต่ละหน่วยงานกำหนดแผนงาน/โครงการ ที่เป็น Quick Win และ Big Rock ของหน่วยงานเพื่อผลักดันให้หน่วยงานจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับประเด็นแผนปฏิรูปประเทศ โดย สศช. ได้มีการจัดประชุมชี้แจงในเรื่องดังกล่าวแล้ว |
|
8. ควรจัดบุคลากรมาให้ข้อมูล เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับข้าราชการประจำและข้าราชการทางการเมือง |
ทุกหน่วยงานมีการจัดให้มีบุคลากรมาให้ข้อมูล หรือมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดฝึกอบรม เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องการปฏิรูปประเทศให้กับข้าราชการประจำและข้าราชการทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีทิศทางการดำเนินงานร่วมกัน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 12 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10406
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ