รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2/2564 และแนวโน้มไตรมาสที่ 3/2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฎาคม 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 12 October 2021 20:50
- Hits: 6507
รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2/2564 และแนวโน้มไตรมาสที่ 3/2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฎาคม 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2/2564 และแนวโน้มไตรมาสที่ 3/2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฎาคม 2564 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2/2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 20.41 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับในไตรมาสที่ 1/2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.85 ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์ จากผลของฐานต่ำในไตรมาสที่ 2/2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก รวมถึงในปีนี้การส่งออกมีการขยายตัวดี อุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวในไตรมาสที่ 2/2564 อาทิ การผลิตรถยนต์ ปัจจัยหลักมาจากฐานต่ำในปีก่อน ที่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบแรกทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหดตัว ความต้องการสินค้าหายไป แต่ในปีนี้สภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าเติบโตได้มากขึ้น ทำให้การผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองตลาดส่งออกเป็นหลัก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง การเริ่มฟื้นตัวของประเทศที่พัฒนาแล้ว หลังการเร่งฉีดวัคซีนและสามารถควบคุมยอดผู้ติดเชื้อได้ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเข้ามาสูงในทุกรายการสินค้า เหล็กและเหล็กกล้า ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มสินค้าเหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาว โดยเฉพาะเหล็กทรงแบนที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เติบโตได้ดีจากปีก่อน และการเร่งก่อสร้างสาธารณูปโภคของรัฐที่ทำให้ความต้องการใช้สินค้าในกลุ่มเหล็กทรงยาวเติบโตมากขึ้น เครื่องปรับอากาศ จากฐานต่ำในปีก่อนที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกแรกที่ส่งผลกระทบทั่วโลก และส่งผลต่อให้ผู้ผลิตขาดแคลนชิ้นส่วนสำหรับการผลิตสินค้าจากการล็อกดาวน์ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย การผลิตยางล้อ เนื่องจากปีก่อน มีการล็อกดาวน์ทั่วโลก ทำให้ความต้องการหดหายไปจากการหยุดผลิตรถยนต์ชั่วคราวและกำลังซื้อหดตัว แต่ในปีนี้บริษัทสามารถทำการผลิตได้ตามปกติ ประกอบกับความต้องการของยางรถยนต์เติบโตตามอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งยังคงได้รับอานิงส์จากฐานเปรียบเทียบในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ต่ำ ซึ่งยังเป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดในระลอกแรก รวมถึงในปีนี้การส่งออกมีการขยายตัวได้ดี
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกรกฎาคม 2564 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ
1. รถยนต์และชิ้นส่วน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.49 จากตลาดส่งออกเป็นหลัก ด้วยผลของฐานต่ำ และความต้องการของลูกค้าต่างประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวจากการควบคุมการระบาดได้ดีและมีการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในระดับสูง
2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.02 ตามความต้องการที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และคาดว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นในระยะยาว
3. ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ที่มิใช่ยางล้อ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.55 จากยางแท่งและยางแผ่นเป็นหลัก จากสถานการณ์โควิด-19 ของกลุ่มประเทศคู่ค้าหลัก (จีน อเมริกา และยุโรป) คลี่คลายและกลับมาสั่งซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงปีนี้ฝนตกต่อเนื่องทำให้ต้นยางสมบูรณ์ผลิตน้ำยางได้มาก
4. เม็ดพลาสติก เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.61 เนื่องจากฐานต่ำจากการหยุดซ่อมบำรุงของโรงานหนึ่งในปีก่อน และบางโรงงานเร่งผลิตหลังจากมีการขยายกำลังการผลิต รวมถึงมีการปรับปรุงสูตรการผลิต ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้น
5. น้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.73 จากการผลิตน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ หลังจากปิดหีบ
แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 3/2564
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ประกอบกับราคาเหล็กในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงยังมีความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประมาณร้อยละ 8.0 และ 7.0 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของตลาดโลกและตลาดผู้บริโภคหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว เช่น ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป เป็นต้น ดังนั้น ประเทศไทยน่าจะมีการผลิตและการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นได้ตามการขยายตัวของตลาดโลก อย่างไรก็ตามต้องจับตา ได้แก่ สถานการณ์ขาดแคลนซิปทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศในระยะสั้นได้
อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ คาดว่า ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการบริโภคในประเทศ ขณะเดียวกันในยุค New Normal บรรจุภัณฑ์กระดาษจะขยายตัวได้ค่อนข้างมาก และได้อานิสงส์ตามการใช้งานสำหรับการสั่งสินค้าออนไลน์ ประกอบกับเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ในขณะที่การส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มเยื่อกระดาษ
อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายคาดว่าจะเริ่มเห็นการปรับตัวลดลง เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงและขยายวงกว้างกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากการระบาดในปีนี้มีเชื้อกลายพันธุ์เข้ามาระบาดด้วย ทั้งนี้การระบาดได้แผ่ขยายเข้าไปในโครงการก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะงานโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐหลายแห่ง จนรัฐบาลต้องประกาศหยุดการก่อสร้างในพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออก คาดว่ายังสามารถขยายตัวได้จากตลาดส่งออกที่อยู่นอกอาเซียน
อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมและมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดคู่ค้าหลักยังคงมีความต้องการบริโภคอย่างต่อเนื่องจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อนค่า อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การผลิตและการส่งออกยังมีความเสี่ยงจากการระบาดของโควิดรอบใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศและประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 12 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10405
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ