ข้อเสนอหลักการในการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 06 October 2021 00:54
- Hits: 9286
ข้อเสนอหลักการในการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เสนอ
2. มอบหมายให้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกันจัดทำร่างกฎหมายตามหลักการตามข้อ 1 โดยให้รับความเห็นของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วเสนอคณะกรรมการพัฒนากฎหมายตรวจพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนต่อไป
สำนักงาน ป.ย.ป. เสนอว่า
1. โดยที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2563 กำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็น คำปรึกษา หรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางแก้ไข ปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายหรือกฎที่มี ผลใช้บังคับอยู่ หรือการเสนอกฎหมายหรือกฎใหม่ เพื่อให้การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติในระยะเร่งด่วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และให้เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป ในการนี้ คณะกรรมการได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายเพื่อสนับสนุนสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลโดยมีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และพิจารณาจัดทำความเห็นหรือข้อเสนอแนะด้านการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล
2. คณะอุนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายเพื่อสนับสนุนสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลได้ดำเนินการศึกษาสภาวะแวดล้อมด้านกฎหมายเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยเห็นว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 เป็นกฎหมายที่วางหลักพื้นฐานในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่สามารถสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีได้อย่างแท้จริง จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าว และได้นำผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องจากการประเมินผลสัมฤทธิ์ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาประกอบการพิจารณา รวมทั้งศึกษาแนวโน้มของพัฒนาการด้านกฎหมายเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับใช้กับระบบกฎหมายไทย
3. ในคราวประชุมคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้สำนักงาน ป.ย.ป. เสนอข้อเสนอหลักการในการปรับปรุงกฎหมายด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการวมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จัดทำร่างกฎหมาย แล้วเสนอคณะกรรมการพัฒนากฎหมายตรวจพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งภายใน 140 วัน นับแต่วันที่มี มติคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของข้อเสนอหลักการฯ
หลักการในการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สรุปได้ดังนี้
1. หลักการที่ 1 วัตถุประสงค์และขอบเขตของกฎหมาย ขยายขอบเขตการใช้บังคับกฎหมายให้ครอบคลุมการทำธุรกรรมทุกประเภท ทั้งการทำธุรกรรมระหว่างบุคคล และระหว่างบุคคลกับรัฐ ภายใต้หลักการการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม (fair and equitable access to technology) และการไม่สนับสนุนเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งเป็นพิเศษ (technological neutrality)
2. หลักการที่ 2 การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดเป็นข้อสันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่า การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นที่น่าเชื่อถือ และหากเป็นกรณีที่ดำเนินการผ่านระบบที่หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ให้การรับรองไว้แล้วว่าเป็นระบบที่น่าเชื่อถือ ผู้ใช้งานจะไม่มีภาระในการพิสูจน์การยืนยันตัวตน
3. หลักการที่ 3 การแสดงเจตนาทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มเติมข้อสันนิษฐานทางกฎหมายเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการแสดงเจตนาในกรณีที่ดำเนินการด้วยวิธีการหรือผ่านระบบที่หน่วยงานที่รับผิดชอบได้กำหนดหรือให้การรับรองไว้แล้ว
4. หลักการที่ 4 นิติกรรมสัญญา เพิ่มเติมหลักการเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การมอบอำนาจทางอิเล็กทรอนิกส์ รองรับนิติกรรมสัญญาที่เกิดจากกลไกหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้า (smart contract) การยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท เช่น การมอบอำนาจ การออกตั๋วเงิน การออกใบหุ้น และกำหนดข้อสันนิษฐานให้นิติกรรมสัญญา หรือธุรกรรมที่ทำขึ้นในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีที่หน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดหรือรับรองไว้แล้วจะได้รับข้อสันนิษฐานทางกฎหมายว่าให้เป็นนิติกรรมที่ได้จัดทำขึ้นโดยเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือ
5. หลักการที่ 5 การลงนามทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มเติมหลักการการลงนามทางอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีขั้นตอนการแสดงเจตนาที่ชัดเจนเพิ่มเติมจากการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยอาจใช้รูปแบบใบรับรอง หรือวิธีการอื่นใดที่น่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้ กำหนดข้อสันนิษฐานทางกฎหมายสำหรับการลงนามทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีที่หน่วยงานที่รับผิดชอบให้การรับรองแล้ว และให้เอกสารที่มีลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้เช่นเดียวกับวัตถุพยาน
6. หลักการที่ 6 ตราสารเปลี่ยนมืออิเล็กทรอนิกส์ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับตราสารเปลี่ยนมือที่จัดทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องและรองรับกฎหมายแม่แบบว่าด้วยตราสารเปลี่ยนมืออิเล็กทรอนิกส์ของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (UNICTRAL Model Law on Electronic Transferable Record)
7. หลักการที่ 7 หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์และการระงับข้อพิพาท กำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บข้อมูลการยืนยันตัวตนหรือเอกสารหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะต้องจัดเก็บและผู้ใช้บริการสามารถร้องขอได้ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยให้ถือเป็นเอกสารต้นฉบับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หากผู้ให้บริการไม่ดำเนินการอาจถูกหน่วยงานที่รับผิดชอบประกาศแจ้งเตือนเป็นระบบเทคโนโลยีที่ไม่น่าเชื่อถือ
8. หลักการที่ 8 การรับรองเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดมาตรฐานของเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือหรือรับรองเทคโนโลยีที่ใช้งานอยู่แล้วให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ ต้องมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่หน่วยงานกลางกำหนด
9. หลักการที่ 9 บทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมาย ทบทวนบทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการและหน่วยงานต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน เช่น พระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติการบริหารงานและ การให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10147
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ